รัก 7 ปี ดี 7 หน - วิเคราะห์หนัง ...ถ้าอยากดูให้ลึก ก็ควรอ่าน

ใครไปดูหนังเรื่องนี้มาแล้วบ้างคะ  เป็นยังไงบ้าง
เราอ่านเจอเค้าพูดถึงหนังเรื่องนี้ในเว็บพันทิปค่ะ  เราว่าเค้าวิเคราะห์ออกมาได้ดีทีเดียวเกี่ยวกับหนังเรื่อง  รัก 7 ปี ดี 7 หน
เราคิดว่าหนังเรื่องนี้คงจะทำให้มุมมองของเราต่อความรักเปิดกว้างและหลากหลายมากขึ้นค่ะ
รัก 7 ปี ดี 7 หน  เป็นเรื่องราวความรักของคน  3 รุ่น 3 รูปแบบที่แตกต่างกันออกไปค่ะ
เรายังไม่ไปดู   แต่ฟังจากที่เค้าวิเคราะห์มาแล้ว   ทำให้เราชักอยากไปดูซะแล้วสิคะ

เนื้อเรื่องย่อ
"14"  กำกับโดย ปวีณ ภูริจิตปัญญา
ความรักของ ป่วน (จิรายุ ละอองมณี) และ มิลค์ (สุทัตตา อุดมศิลป์) ไม่มีวันเหมือนเดิมอีกต่อไป ฉับพลันที่ป่วนตัดสินใจเปลี่ยน Status ใน Facebook เป็น ‘In Relationship’ ป่วนโพสต์คลิปเผยแพร่ความรักของตัวเองลงใน Youtube อย่างละเอียดยิบด้วยความภาคภูมิใจและเนิร์ดแฟน หลากหลายคอมเม้นต์ ความอยากรู้อยากเห็น และยอด Views ที่พุ่งอย่างไม่หยุดยั้ง ดึงป่วนให้ถลำลึกลงไปในโลกของฟีดแบ็คจากคนที่เขาไม่รู้จัก ส่วนคนที่เขารักนั้น ยิ่งนานวันเธอก็ยิ่งมีค่าน้อยกว่ายอดคลิก Like ในหน้า Wall Facebook ของเขา



"21/28"  กำกับโดย อดิสรณ์ ตรีสิริเกษม
เรื่องราวรักนอกจอของอดีตสองซุปเปอร์สตาร์ที่เคยมีหนังร้อยล้านร่วมกันเมื่อ 7 ปีก่อน ปัจจุบันฝ่ายหญิง แหม่ม (คริส หอวัง)ในวัย 28 ยังกระเสือกกระสนหาทางกลับไปยืนแป้นนางเอกอีกครั้ง โอกาสมาถึงเมื่อสตูดิโอเจ้าของหนังประกาศสร้างภาคสอง แต่นั่นหมายถึงต้องได้พระนางคู่เก่าคืนจอ ปัญหาอยู่ที่ จอน (ซันนี่ สุวรรณเมธานนท์) นั้นสาปส่งวงการหนีไปเป็นผู้ดูแลสัตว์น้ำใน Siam Ocean World ไปแล้ว แหม่มจึงต้องบากหน้าไปตื๊อแฟนเก่าทั้งที่ตัวเองเป็นฝ่าย ‘ดังแล้วทิ้ง’ เพียงเพื่อจะพบว่าอดีตพระเอกเจ้าของกล้ามซิคแพ็คได้แปรสภาพเป็นไอ้อ้วนหนัก 80 ที่เกลียดเธออย่างกับขี้ไปซะแล้ว

"42.195"   กำกับโดย จิระ มะลิกุล
ซึ่งจับเอาเรื่องราวของชีวิตและการวิ่งมาราธอนมาเปรียบล้อกัน เรื่องราวของ หล่อน (สู่ขวัญ บูลกุล) ผู้ประกาศข่าวสาววัย 40 ที่กำลังหลงแผนที่ชีวิต หล่อนประสบกับความสูญเสียใหญ่หลวงและไม่รู้จะมีชีวิตต่อไปเพื่ออะไร จนกระทั่งหล่อนได้พบกับ เขา (นิชคุณ หรเวชกุล) นักวิ่งหนุ่มที่ชวนให้หล่อนเข้าแข่งขันมาราธอน ลมหายใจของหล่อนก็เหมือนจะกลับมามีความหมายอีกครั้ง

บนเส้นทางชีวิต อายุก็ไม่ต่างอะไรกับหลักกิโลเมตรบอกระยะทางในการแข่งขัน
14 กิโลเมตรแรก แห่งความสดชื่น กระฉับกระเฉง มุ่งมั่นจะเอาชนะ
21/28 กิโลเมตรถัดมา เมื่อถึงครึ่งระยะทาง จะวิ่งกลับหรือไปต่อ เราต้องตัดสินใจ
42.195 จุดหมายปลายทางแสนไกล ขอแค่มีใครสักคนวิ่งอยู่เคียงข้างเรา
หลายครั้งที่คนเราต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลง เดี๋ยวสุขก็พลิกเป็นเศร้า
เหงาเปลี่ยนเป็นอบอุ่น นี่คือหนังที่พยายามให้กำลังใจกับคนดูทุกคนว่า
ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นระหว่างเส้นทางมาราธอนชีวิตของคุณ
ขอให้คุณสั่งหัวใจตัวเอง “วิ่งต่อไป”

ข้อมูลจากคุณ   avatayos  แห่งเว็บ www.pantip.com ค่ะ
ลิงค์  :  http://www.pantip.com/cafe/chalermthai/topic/A12425640/A12425640.html
สามกล่องแรกจะยังไม่มีสปอยลืนะคะ     ส่วนอันล่างๆลงไปจะมีสปอยล์(ซึ่งเราจะเขียนแจ้งไว้ก่อนอ่านค่ะ)

ผมไม่ได้เขียนรีวิวอะไรอย่างนี้นานแล้ว แต่ดูเสร็จเมื่อคืน ต้องขอเขียน เพราะหนังเรื่องนี้ ถือเป็นอีกเรื่องที่ กล้าพูดได้ว่า ทำให้วงการภาพยนตร์ไทย ก้าวขึ้นอีกระดับ

คำถามสำคัญก่อนจะไปดูหนัง คุณคิดว่าหนังเรื่องนี้ นำเสนออะไร ปัญหาที่ตัวหนังต้องการสื่อคืออะไร - ถ้าตอบได้ ความคาดหวังในตัวหนังจะชัดเจน

สำหรับผม ก่อนเข้าโรง ไม่ได้ติดตามข่าวสารของหนังเรื่องนี้มากนัก แต่ก็พอรู้ว่า ต้องการสื่อถึง ความรัก 7 ปี ที่หลายๆ คนมักพูดว่า เป็นจุดเปลี่ยนของความรัก ใครก้าวผ่านอายุรักของตนเองในปีที่ 7 ไปได้ จะเป็นรักที่มั่นคง

สำหรับรัก 7 ปี ดี 7 หน สื่อความหมายได้ลึกซึ้งกว่านั่น โดยยังคงความ Feel Good และสนุกได้ตามแบบฉบับ GTH 


หนังเปิดเรื่องมาเป็นบทนำที่ให้เรารู้ว่า ทั้งเรื่องนี้เขาต้องการจะสื่อถึง ความรักในแต่ละวัย ที่แตกต่างกัน แล้วจึงเข้าเรื่อง ที่ 1 


************************************
รักวัย 14 - วัยที่ไม่รู้จักคิด 


เรื่องของคู่รักวัยเรียนที่พบรักกัน มีความรักกันอย่างสดใส หนังแสดงให้เห็นมมุมสร้างสรรค์ต่างๆ ตามวัย ที่ดูแล้วคุณอาจนึกย้อนกลับไปว่า "ชีวิตตอนนี้ของเรา ใยขาดสีสันของความรักในวัยเด็ก" (บังเอิญว่าผมแต่งงานนานแล้วอะนะ 555)


หนังหยิบยกประเด็น วิถีชีวิตปัจจุบัน เด็กยุคเฟสบุ๊ค มาเพื่อสื่อความ "ปัญหาความรักในวัยเด็ก มักเกิดจากวัยวุฒิที่คาดความยั้งคิดยั้งทำ" 


แม้ว่าตัวเอกชายจะเป็นคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ มีจินตนาการ มีจุดมุ่งหมายที่ดี จนเราอาจเผลอมองตามไปว่า "เด็กคนนี้ก็คิดดี ทำดี เก่ง ฉลาด และสิ่งที่ทำก็มิได้เห็นว่าผิดมากมาย"  


ผลงานระดับที่หนังนำเสนอ ถ้าผมรู้จัก ผมก็จะเรียกมาให้ทำงาน เลยทีเดียว ก็สมกับที่ภาพฝันในหนังได้นำเสนอไว้  


แต่ด้วยความเป็นเด็ก และเป็นเด็กในโลกยุคที่ "ต้องการให้สังคมแคร์" และ การกด Like การแชร์ความรู้สึก สู่สาธารณะ โดยไม่ยั้งคิดถึงผลเสียที่จะตามมา


ประเด็นในหนังนั้น ดูแสนจะเบา หากเรามองด้วยความเคยชิน ใช้บรรทัดฐานของสังคมปัจจุบันที่มันเกือบเน่า (หรือเน่าไปแล้วหากเรายอมรับว่ามันมีอยู่จริง อย่าง คลิปเด็กตีกัน มีอะไรกันในโรงหนัง คลิปเด็กเอาเก้าอี้ฟาดแม่บ้าน)


ดังนั้นแม้ว่าคลิปที่ตัวเอกชายสรรค์สร้างขึ้นจะสวยงามแค่ไหน แต่มันแสนหนัก และมิอาจรับได้ ในความรู้สึกของตัวเอกหญิง


ในความใสๆ ของรักวัย 14 จบลงด้วยบทพูดที่อยู่ในตัวอย่างหนังแล้วที่ว่า


"พี่มีคนชอบตั้งเป็นหมื่น จะมาแคร์อะไรกับฉันคนเดียว"


ยิ่งตอกย้ำชัดเจนกับประเด็นที่ว่า "วัยนี้เป็นวัยที่ทำอะไรไม่ยั้งคิด"


ลองถามตัวเอง "ถ้าเราแคร์ใครจริงๆ เราจะคิดถึงคนๆ นั้น เราจะคิดทุกการกระทำของเราว่าจะส่งผลกระทบถึงคนๆ นั้นอย่างไร" 


ดูหนังแล้วย้อนกลับมาดูตัวเองกันสักนิด "อยากให้สังคมแคร์ แต่ไม่เคยแคร์สังคม (คนรอบข้าง)" หรือเปล่า


****************
จุดสังเกตสนุกๆ 


คุณอยากรู้ไหมว่า ตัวเอกชาย แคร์ ตัวเอกหญิง จริงๆ หรือเปล่า รักจริงๆ หรือเปล่า ลองจับบทพูด ตอนทะเลาะกันดีๆ แล้วคุณจะรู้คำตอบ

ความคิดเห็นที่ 1
เรื่องที่ 2
รัก อายุ 7 ปี จาก 21 ถึง 28 : รักของจริง รักแท้ วิถีแห่งความรัก


หนังเรื่องที่ 2 นี้ เป็นหนังบอกเล่าเรื่องความรัก ของคนโตๆ คนเริ่มทำงาน คนทำงาน ช่วงชีวิตที่ อยากมีรักแท้ อยากมีรักที่จบสมบูรณ์

สำหรับตอนนี้ เล่ายังไง ก็สปอยล์ เพราะการนำเสนอแบบ Flashback ที่คอยตอบประเด็นต่างๆ จนจูงให้เราเข้าใจความรักอย่างแท้จริง

ตอนนี้เป็นตอนที่ดีที่สุดที่อธิบาย ปัญหาของความรัก เหตุแห่งการกระทำ

เหตุแห่งรักแรก เหตุแห่งความเปลี่ยนแปลง


ผมเล่ามิได้ เพราะเล่าแล้วสปอยล์แน่นอน

แค่บอกได้ว่า ข้อคิดดีๆ อยู่ในตอนนี้เพียบ มีฉากที่สื่อความหลายจุด ที่แทรกอยู่ในมุขตลก ล้อเล่นหนังของค่ายตัวเอง

ดูจบแล้ว ลองถามตัวเองสักครั้งว่า

"ปัญหาชีวิตรักของเรา ที่มักอ้างระยะเวลา 7 ปีนั้น แท้จริงแล้วปัญหาเกิดจากใคร"

รักที่เราคิดว่าไม่เปลี่ยนแปลง ความจริงแล้วมันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เป็นไปตามสังคม เป็นไปตามการเติบโตของเรา หากเรามัวแต่เพิกเฉยต่อปัจจัยรอบข้าง

โดยมิคิดว่าปัจจัยเล็กๆ น้อยๆ นั่น ส่งผลกระทบต่อพฤติกรรม และการกระทำของเรา มัวแต่คิดโทษคู่รักของเราว่าเขาเปลี่ยนแปลง

จนเป็นเหตุให้รักของเราต้องเลิกรา

ลองฟังคำพูดในหนัง ที่ย้ำแล้วย้ำอีก (เหมือนจะบอกว่ามันสำคัญนะ) แล้วกลับไปคิดสักนิด

"ที่คุณเป็นอย่างนั้นก็เพราะฉัน"

ปัญหารักของคุณ เป็นอย่างนั้น ก็เพราะคุณหรือเปล่า (คุณทั้งคู่นั่นละ)

ความคิดเห็นที่ 6  
เรื่องที่ 3 ที่สุดของการสื่อความ ที่สุดของปรัชญาความรัก

42.195

ตอนนี้มีฉากเชิงสัญลักษณ์มากมาย ใครที่เรียนสายวิเคราะห์หนังมา ตอนนี้น่าจะสนุก และยิ้มไปกับรายละเอียดที่หยอดเอาไว้

สำหรับตอนที่ 3 นี้ เป็นตอนที่ต้องการสื่อถึง การเริ่มต้นใหม่ของความรัก

ฉากเปิดที่สวยงามพร้อมด้วยเพลงที่ฟังแล้วจะเฉลย รายละเอียดลึกๆ ของตัวเอกหญิงที่จมปลักในความทุกข์ ไม่มีคนข้างกาย อยากจะหาใครสักคนมาข้างกาย แต่ไม่สามารถยอมรับได้

จนได้มาเจอกับ นิชคุณ (ตอนนี้แค่เข้าไปดู บอดี้ของนิชคุณก็กรี๊ดแล้ว ขนาดผมเป็นผู้ชาย ผมยังชอบนิชคุณเพิ่มขึ้นอีกขั้น)

ชายที่ทำให้รู้จักกีฬา วิ่งมาราธอน

ตอนนี้ผมอินมากหน่อย เพราะ หัวใจแท้ๆ ของมาราธอน เหมือนกัน การปั่นจักรยานทัวริ่ง (หรือทางไกลก็ได้) ที่ผมหลงรัก หลงปั่นอยู่



กีฬามาราธอนในมุมของคนส่วนใหญ่ ดูแล้วอาจจะไม่เข้าใจว่า คนปกติคนหนึ่งมันจะไปวิ่งทำไมให้เหนื่อย วิ่งทำไมกับระยะทางที่ไกลกว่ามนุษย์ทั่วไปควรจะวิ่ง แต่คนที่เข้าใจมาราธอน จะรู้ว่า เขาไม่ได้ลงแข่งเพื่ออะไร แต่ลงแข่งเพื่อแข่งกับตัวเอง เส้นชัยไม่ได้เป็นคนคนแรกที่เข้าถึง แต่มีเส้นชัยให้ทุกคน มีความยินดีให้ทุกคนที่เข้าเส้นชัยได้

เพราะสิ่งที่สำคัญกว่าคือ การคิดที่จะลงแข่งมาราธอน

ถ้าคุณอยากรู้ว่ามันเป็นอย่างไร คุณต้องไปลองวิ่งดูจริงๆ ให้ไกลที่สุดเท่าที่จะทำได้ แล้วคุณจะพบคำตอบ เหมือนเช่นที่นิชคุณ บอกไว้ในหนัง (เหมือนที่ผมพบในการปั่นจักรยานทางไกล)

"ถ้าคุณอยากจะวิ่ง คุณวิ่งแค่กิโลเดียวก็ได้ แต่ถ้าคุณอยากจะพบชีวิตใหม่ คุณต้องลองวิ่งมาราธอน"

หนังได้เปรียบเทียบการพบชีวิตใหม่ของนักวิ่งมาราธอน การแข่งกับตัวเอง แข่งกับเสียงคนรอบข้าง แข่งกับเสียงค้านของเพื่อน ก็เหมือนกับชีวิตการเริ่มต้นความรักครั้งใหม่

ที่อาจต้องค้านเสียงคนรอบข้าง ค้านความรู้สึกตัวเอง ค้านแม้กระทั้งคำมั่นสัญญาที่ตัวเองเคยให้ไว้

ปัญหาความรักของหลายๆ คนส่วนใหญ่เกิดจากการยึดติด การไม่กล้าก้าวข้าม ก้าวผ่าน ปัญหาของความรัก

ถ้าไม่คิดจะเริ่มต้นชีวิตใหม่ ก็ต้องจมปลั่กกับชีวิตเดิมๆ ความทุกข์เดิมๆ

แต่เพราะชีวิต "เริ่มใหม่ได้ทุกวัน"

คุณกล้าที่จะเริ่ม ไหม กล้าที่จะวิ่งไหม กล้าที่จะยอมเหนื่อย และเหนื่อยกว่าเมื่อวาน เพื่อให้ร่างกายพัฒนาขึ้นไหม

ชีวิตก็เหมือนกัน ถ้าคุณไม่กล้าที่จะทำสิ่งที่ฝัน ไม่กล้าทำสิ่งที่ใจปรารถนา ไม่กล้าที่จะทำอะไรใหม่ๆ ชีวิตคุณก็จมปลักอยู่กับปัญหาเดิมๆ "ไม่พัฒนา"


ผมชอบตอนนี้เพราะสื่อสัญลักษณ์เชิงเปรียบเทียบเพียบไปหมด


***************
ฉากเชิงเปรียบเทียบ

อยากดูให้ลึก ลองถามตัวเองเหมือนที่ นางเอกถามพระเอกว่า คุณวิ่งสวนทางชาวบ้านเขาทำไม - คำตอบไม่ได้ผิวๆ แค่ ที่หนังบอก แต่สื่อลึกซึ้งยิ่งกว่านั่น

ปีศาจกิโลเมตรที่ 35 - คืออะไร (อันนี้ลึก ถ้าไม่เคยมีอารมณ์เดียวกับตัวละครอาจมองไม่ลึกถึง อยากรู้ต้องลองไปวิ่งจนถึงจุดที่ถามตัวเอง แบบที่ปีศาจถาม วิ่งทำไม จุดเปลี่ยนของชีวิตคุณ อยู่ที่การตอบคำถามนั่นของปีศาจ)

พระอาทิตย์ขึ้นที่ กม. ที่ 28 - ไม่ลงมือทำก็ไม่มีวันได้เห็น ไม่กล้าเปลี่ยนแปลงก็ไม่มีวันพบกับโลกใหม่ ที่สวยงาม

ความเคยชิน กับการเปลี่ยนแปลง - ลองถามตัวเองว่าเหตุใดตัวเอกในตอนนี้ถึง ขึ้นบันได - "จงก้าวข้ามผ่านความเคยชิน แล้วจะพบว่าชีวิตมีทางเลือกที่มากกว่า"

****************************

และสุดท้าย หนังจบด้วยคำพูดที่สวยงาม ตอบโจทย์ Theme & Concept ของหนังอย่างชัดเจน

ไม่อยากเขียนในนี้ แต่อยากให้ไปดู

แล้วคิดตาม อย่าดูเรื่องนี้แค่ผิวๆ ของความรัก แต่ดูให้ลึกถึงแก่นแท้ของความรัก

แล้วคุณจะพบว่า คำพูดจบของหนัง ที่เกี่ยวกับเลข 7 นี้ มันลึกซึ้งจริงๆ

ความคิดเห็นที่ 10  
เรื่องสนุกๆ ของหนังเรื่องนี้ ประเด็นที่คาใจผม

1. ลองดูนาฬิกาจับเวลาของการวิ่งมาราธอนดีๆ นะ มีฉากหลุดให้เห็น ทั้งๆ ที่มีบทพูดถึงเวลา ซึ่งเป็นข้อความสำคัญ แต่ตัวเลขเวลาดันหลุด (อย่ามัวแต่ดูนิชคุณกันละ 555)

2. สิ่งที่ผมไม่เข้าใจ คือ ทำไมต้องใช้ ... เพื่อสื่อความคิดถึงของนางเอกในตอน 3 ทั้งๆ ที่ ... มันมิควรมีอยู่จริงแล้ว เนื่องจากมัน.... ไปแล้วจากสาเหตุการ... (เติมคำในช่องว่างแล้วจะสปอยล์ ต้องไปดูเองแล้ว งง คิดเหมือนผมว่า ใช้อุปกรณ์อย่างอื่นเพื่อสื่อความตอนนี้ก็ได้นะ)

------------------------------------------------
การบ้านอยากดูให้ลึก

ส่วนใหญ่จะเริ่ม ตอนที่ 2 และ 3 เพราะหนังปูไว้ถึงความลึก เรียงลำดับตามการเติบโตของความรัก ดังนั้นตอนที่ 1 จะดูได้ง่าย และเข้าใจง่าย ไม่ซับซ้อนอะไร แต่เริ่มตอน 2 และ 3 ต้องเริ่มจับประเด็น จับฉากต่างๆ มาเปรียบเทียบ แล้วจะอิน แล้วจะบอกว่ามันเจ๋งขึ้นนะหนังไทย


1. ตู้ปลา กับรักแท้ที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลง - คุณเห็นอะไร ใครทำลายความรัก ใครมีความรักจริง ใครรักไม่เคยเปลี่ยนแปลง

2. คริส ร้องไห้เพราะอะไรในตู้ปลา ตอบได้หรือไม่

3. "เราจะกลับมารักกันอีกครั้งได้ไหม" ปรากฎในสองฉากสำคัญ ที่มีตัวแปรที่แตกต่างกัน แล้วคุณจะเข้าใจความรักของคนที่โตแล้วมากขึ้น

4. ทำไมทั้งสองคนถึงวิ่งสวนทางชาวบ้าน เพราะอะไร

5. บทพูดมากมายของเสียงพากย์ นั่นสำคัญ เหตุใดถึงใช้วิธีนี้ในการเล่าเรื่อง เล่าความคิดของตัวละคร

6. เหตุใด ตัวละครของคุณสู่ขวัญ ถึง เก็บเบอร์ของนิชคุณไว้ โดยการเมมว่า Finisher มันสื่อถึงอะไร

7. ตัวละครของคุณสู่ขวัญ รังเกียจความสกปรกทุกอย่าง อย่างชัดเจน เหตุใดถึงเก็บรองเท้าเน่าๆ ไว้

8. สีของเสื้อที่วิ่ง (จริงๆ อาจไม่ได้สื่ออะไร) แต่ครูผมบอกว่า เสื้อผ้าในหนังสื่อความหมายเสมอ ถ้าคนทำหนัง เป็นคนทำหนังจริงๆ ) ดังนั้น สีของเสื้อที่วิ่งมีความหมายแน่นอน ลองไปดู

 ความคิดเห็นที่ 47  

เฉลย และ สปอยล์ 100% 



เตือนแล้วนะ




"เพราะชีวิตคือการเปลี่ยนแปลง จงยอมรับ พัฒนาและก้าวต่อไปอย่างมีความสุข"

ตอนที่ 1 Sub Theme "วัยรุ่น วัยไม่ยั้งคิด การเปลี่ยนแปลงในชีวิตเกิดจากความไม่ยับยั้งชั่งใจ ไม่มองผู้อื่น เอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง"

หนังเล่นประเด็นนี้ โดยจับรายละเอียดของยุค Facebook ครองเมืองไทย

การโพสต์ FB ในวัยรุ่นทุกวันนี้ อยากโพสต์อะไรก็โพสต์ อยากทำอะไรก็ทำ โดยไม่คิด

และเป็นโชคดีของเราที่ผู้กำกับ เลือกที่จะนำเสนอในด้าน Feel Good ด้านบวกของปัญหานี้ เราจึงได้น้องเก้า จิรายุ มาเป็นตัวแทนวัยรุ่น

ในขณะเดียวกัน Sub Theme ของเรื่องนี้(ทั้งเรื่อง) คือ" มุมมองของความรักในวัยต่างๆ"

ดังนั้นในตอนนี้ 1 ของหนัง จึง บอกเล่าปัญหาของ Theme ใหญ่ ด้วยความรัก น้องเก้าของเราจึงมีความรัก

เป็นความรักที่สวยงาม ดูแล้วอินตาม ดูแล้วสดใสไม่น่ามีปัญหา

"ไม่น่ามีปัญหา" คือ เหตุปัจจัยของวัยรุ่น วัยไม่ยั้งคิด ที่มองอะไรก็ไม่น่ามีปัญหา จึงมีบทพูดของตัวละครหลายตัว

"เรื่องแค่นี้เอง" "เป็นฉัน ฉันก็ชอบ"

"ใครมันจะไปดู (คลิปที่โพสต์)"

ในขณะเดียวกัน หนังก็สื่อถึงพฤติกรรมของวัยรุ่น ปัจจุบันที่ "มันไม่เคยแคร์คนรอบข้างจริงๆ แคร์แค่ตัวเองเท่านั้นละ"

บอกให้น้องปันปัน อย่าพึ่งทานไอศกรีม ขอตัวเองถ่ายภาพก่อน

บอกให้น้องปันปัน ปั่นจักรยานกลับไป เพื่อจะได้ถ่ายวิดีโอสวยๆ

ทำคลิปที่เราอาจคิดว่า ทำเพื่อแฟน แต่จริงๆ หนังมี ซีนความฝันยาวๆ ที่บอกว่า ลึกแล้ว ไอ้ตัวเอกของเราเนี่ย ทำคลิปเพื่ออะไร "ก็เพื่อตัวเอง"

หรือแม้แต่ฉากการขอโทษ ที่บอกว่า "ถ้าพี่เลิกมันหมดทุกอย่าง เลิกเล่น FB เลิกเล่น TW แล้วจะหายโกรธพี่ไหม"

มันก็เป็นแค่คำพูดลอยๆ ที่ไม่ใส่ใจ เพราะสุดท้าย ก็หันกลับไปทำ "คลิปขอโทษ"

หันไป "เล่าเรื่องในพันทิพ"

เรียกได้ว่า ความจริงแล้ว ก็ไม่แคร์ความรู้สึกของคนที่ตัวเองบอกว่ารักเลยด้วยซ้ำไป

ยิ่งตอกย้ำชัดเจนกับประเด็นที่ว่า "วัยนี้เป็นวัยที่ทำอะไรไม่ยั้งคิด"

ลองถามตัวเอง "ถ้าเราแคร์ใครจริงๆ เราจะคิดถึงคนๆ นั้น เราจะคิดทุกการกระทำของเราว่าจะส่งผลกระทบถึงคนๆ นั้นอย่างไร"

ความรักในวัยรุ่น จึงมักมีปัญหา เพราะทำอะไรไม่ยั้งคิด

หนังตอนนี้ไม่ต้องบอกหรอกว่า สองคนนี้จะลงเอยอย่างไร

เพราะมันอยู่ที่ ตัวพระเอก ที่จะเข้าใจคำกล่าวนี้หรือเปล่า

"เพราะชีวิตคือการเปลี่ยนแปลง จงยอมรับ พัฒนาและก้าวต่อไปอย่างมีความสุข"

ถ้าเข้าใจ และรู้จัก ปรับปรุงตัว ผมเชื่อว่า น้องน่ารัก อย่างปันปัน ก็อาจจะให้อภัย ตัวละคร สองตัวนี้ ยังมีเวลาพัฒนาด้านความรักอีกเยอะ

หรือถ้า น้องเก้าหรือ พี่ป่วน ยังเหมือนเดิม ไม่รู้จักแก้ไข ไม่รู้จักแก้ปัญหาให้ถูกจุด (คือ แก้นิสัยของตัวเอง)

ความรักของสองคนนี้ก็คงจบถาวร


*** ทั้งนี้ จะเห็นตัวหนังตอนนี้มันตอบโจทย์ Theme กับ Concept เรียบร้อยแล้ว จึงไม่มีความจำเป็นใด ๆ ที่จะ เล่นต่อ เพื่อบอกว่า เรื่องนี้จะจบอย่างไร

และการไม่เล่นต่อเพื่อบอกนี้ ก็เป็นอีกหนึ่งในสารที่ต้องการสื่อ ในองค์รวมของหนังทั้งหมด ***

ความคิดเห็นที่ 49  
ตอนที่ 2

21|28

ตอนนี้ต้องวิเคราะห์ แล้วจะบอกว่า มันเจ๋งดี

เรื่องเริ่มด้วยการบอกเล่าแบบ Flashback แยกอดีตกับปัจจุบันด้วยสีผม และพุง

ผมจะไม่เล่าย้อนไปย้อนมา แต่อธิบายตั้งแต่เริ่ม

----------------------------------------------------------
จอน หรือซันนี เป็นนักศึกษา ภาควิชาประมง ไม่รู้ที่มาที่ไปอย่างไร ถึงมาเป็นดารา - เพราะจริงๆ ไม่ต้องรู้ก็ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับหนัง

แหม่ม หรือ คริส เป็นนักแสดง ดังหรือไม่ดังมาก่อน ไม่รู้

สองคนมาเจอกันในเรื่อง See You รักติดเกาะ

การถ่ายทำหนังเรื่องนี้ทำให้สองคนรักกัน และยอมมาอยู่ด้วยกัน

พระเอกชอบและรักในวิชาประมง ดูได้จากคำพูดที่ว่า "ผมคงกลับไปเรียนต่อประมงให้จบ" และภายในบ้านก็ยังมีตู้ปลา แถมทำงานประจำก็ยังทำงานเกี่ยวกับปลา

ส่วนตัวนางเอก ก็ชอบการแสดงเป็นชีวิตจิตใจ ดูได้จากคำพูดที่ว่า "ฉันคงไปแคสหาหนังเรื่องต่อไปเล่น" ชีวิตก็วนเวียนอยู่กับการแสดง จับคู่พระเอกคนนั้นคนนี้

เหตุที่เลิก เพราะความไม่ไว้วางใจ ของฝ่ายชาย แต่สาเหตุก็เกิดจากการกระทำของฝ่ายหญิง คำพูดสุดท้ายที่ว่า "เธอเป็นอย่างนั้น ก็เพราะฉัน" มันจึงกินใจ และสะเทือนใจ และเป็นความจริงอย่างที่สุด

ฝ่ายหญิงเอง ไม่ได้ แรด เหมือนดังเช่นฝ่ายชายคิด แต่เพราะเธอรักในการแสดง เธอจึงต้องเลือกที่จะคว้าโอกาสทางการแสดง โอกาสทางอาชีพของตนเอง ...หากฝ่ายชายเข้าใจสักนิด ก็คงไม่ต้องมาพูดทีหลังว่า "...หึงไปทำไม"

ฝ่ายหญิงเอง ก็โกรธที่ฝ่ายชายไม่เข้าใจ โกรธที่ฝ่ายชายทำนิสัย เลวๆ อย่างนั้น พูดจาด่าทอ ไม่สนใจใยดี ไม่แคร์ (มาอีกแล้วคำนี้)

แต่ไม่เคยดูว่า ปัญหาที่แท้จริงที่ทำให้ผู้ชายเป็นเช่นนั้นก็เพราะ เธอไปเล่นหนังกับดาราที่มีคำกล่าวหาว่า "ดาราลิ้น..." (อะไรสักอย่างจำไม่ได้ ขออภัย"

ซึ่งเสี่ยงมาก ที่ฝ่ายหญิงจะถูกฉวยโอกาส  เป็นความหึงหวงของฝ่ายชายนั่นเอง

--------------------------------
อ่านแล้วเหมือนเรื่องแรกไหม

เรื่องแรก รักมีปัญหา เพราะไม่ยั้งคิด

เรื่องที่สอง รักมีปัญหา เพราะไม่รู้จักคิด ว่าปัญหาที่แท้จริงคืออะไร

--------------------------------
จุดแตกหักของสองคนนี้

คือ ฉากทะเลาะกัน ถึงขั้นหยิบตุ๊กตาทองคำ มาขว้างใส่ แต่ไม่โดน ดันไปโดนตู้ปลา ฉากนี้สำคัญมาก....หากมององค์รวมของทั้งเรื่อง จะเข้าใจ

ตู้ปลาสื่อถึงความรักที่พระเอกมี พระเอกเป็นคนอย่างไร

แม้ไม่มีบทพูดว่า ไม่เคยเปลี่ยนแปลง คนดูที่ดูเป็น จะเข้าใจว่า พระเอกเป็นคนที่รักอะไรรักจริง ทำอะไรทำจริง ไม่เคยเปลี่ยนแปลง

ชีวิตอาจได้ดี เป็นดาราร้อยล้าน แต่สิ่งที่เขารักจริงๆ คือ ประมง เขาก็หันกลับไปเรียนประมง จนจบ แล้วกลับมาทำงานที่เกี่ยวกับทะเลอีก

ตุ๊กตาทองคำ เป็นสัญลักษณ์หนึ่งในความสำเร็จของชีวิตผู้ชายคนหนึ่ง แต่ผู้หญิงคนหนึ่งกลับทำสิ่งที่ภาคภูมิใจ สิ่งที่รักทั้งสองอย่างของเขา ทะลายลง

เอาตุ๊กตาที่แทนความสำเร็จที่สุดในชีวิต ไปทำลายตู้ปลา สิ่งที่พระเอกรักที่สุดในชีวิตไม่เคยเปลี่ยนแปลง

เป็นคุณ คุณจะเลิกกับผู้หญิงคนนี้ไหม แม้รักสุดหัวใจ


ฉากนี้ย้อนกลับไป ทบทวนด้วยประโยคของพระเอกที่ว่า "เราไม่อยากกลับไปเล่นหนังเรื่องนี้อีก เพราะหนังเรื่องนี้ทำลายความรักของเรา" (ขออภัย จำประโยคได้ไม่ถูกต้อง แต่ประมาณนี้ละ)

พระเอกรักนางเอก ก็เหมือนความรักที่พระเอกมีแต่ประมง ตู้ปลาแทนสัญลักษณ์ของรักนิรันดร์ เพราะเขาเป็นคนรักแล้วรักจริง ไม่เคยเปลี่ยนแปลง

หากดูหนังอย่างลึกซึ้งก็บอกได้เลยว่า ไม่ต้องลุ้นเลยว่า พระเอกจะยอมไปแคสตัวละครไหม ด้วยซีนต่างๆ ที่ปูมา

---------------------------------------
แต่ด้วยเวลาผ่านไป วัยที่โตขึ้น

พระเอกก็เข้าใจดี เรียนรู้ชีวิตมากขึ้น รู้ว่าที่ผ่านมา ตัวเองผิดอะไร "แค่หึงหวงมากไป"

หนังฉายแค่นี้ เพราะปัญหาชีวิตรักของคู่นี้ ต้นเหตุคือ ฝ่ายหญิง ดังนั้นหนังเรื่องนี้ คนเดินเนื้อหาตลอดเรื่อง จึงเป็นฝ่ายหญิง

ฉากที่ทำให้ฝ่ายหญิงคิดได้คือ ฉากร้องไห้ใต้น้ำ ฉากนี้มีความหมายมากและลึกซึ้ง

เธอเข้าใจทุกอย่างที่เขาเป็นแล้ว การยอมดำน้ำ ก็เสมือนเปิดใจเพื่อดูว่า ไอ้ดำน้ำเนี่ย มันมีอะไรดีกว่า การแสดง ทำไมถึงไม่ยอมไปแคส

เพราะการแก้ไขปัญหาที่แท้จริง เราต้องไม่มองปัญหาในมุมของตัวเอง แต่ต้องมองปัญหาในหลายๆ มุมมอง ถอยออกมา แล้วจะเห็นว่าปัญหาจริงๆ คืออะไร

เหมือนที่เธอเห็น เธอเห็นความสุขในการได้ทำในสิ่งที่ตนเองรักของเขา

และเธอต้องร้องไห้ เพราะเขา เขาอยู่กับสิ่งที่ตนเองรักมาโดยตลอด ไม่ว่าเขาจะรักทะเล รักประมง หรือรักการแสดง

การดำน้ำ แสดงโชว์ต่อหน้าผู้เข้าชมสยามโอเชียนเวิร์ล เป็นฉากเชิงสัญลักษณ์ที่บอกว่า เขาไม่ต้องการไปแสดงอะไรที่ไหนอีกแล้ว

เพราะทุกวันในชีวิตของเขา เขาก็ได้แสดงอยู่ทุกวัน

ภาพในซีนนี้จึงตัดมาอย่างตั้งใจให้เราเห็นถึง คนถ่ายภาพ คนชื่นชมการแสดงในตู้

มันกระแทกใจนางเอกอย่างแรง เธอโหยหาการแสดงมาโดยตลอด แต่ไม่เคยรู้ถึงแก่นแท้ของการแสดง

หัวใจของการแสดงคือ การมีความสุขที่ทำให้ผู้ชมมีความสุข หาใช่ความโด่งดังที่เธอใฝ่หา

และนั่น ทำให้เธอต้องหลั่งน้ำตาออกมา
-----------------------------------------------

ฉากต่อบทกัน เป็นเสมือนการบอกเล่าความในใจให้สองคนรับทราบซึ้งกันและกัน ให้รู้ว่า

ผมเสียใจนะที่หึงคุณไป

ฉันก็รู้ ที่คุณทำไปอย่างนั้น ก็เพราะฉัน

แล้วทั้งสองจึงเข้าใจกัน

-------------------------------------------------------
รักในวัยที่โตขึ้นมา อาจหลงทาง อาจมีปัญหา เพราะคิดว่า เราควบคุมความรักได้ เราให้รักเป็นอย่างที่เราฝัน

แต่ความจริง เรามีรักในหลายๆ ด้าน รักที่เป็นคู่รัก รักที่เป็นความรักในการทำงาน รักที่เป็นความฝัน

และเราก็คิดว่า รักแต่ละอัน ไม่ส่งผลต่อกัน คิดว่ารักจะไม่เปลี่ยนแปลง แต่ความจริงแล้วมันเปลี่ยนแปลงตัวเองตลอดเวลา รักหนึ่งส่งผลต่อรักหนึ่ง

หลายครั้งในช่วงวัยนี้ของชีวิตเรา จึงต้องเลือกที่จะ "ทำตามความฝัน" หรือ "เลือกคนที่เรารัก" หนังหรือละครหลายๆ เรื่องเคยใช้ Theme นี้ไปทำเป็นหนังทั้งเรื่องก็มี

แต่สำหรับเรื่องนี้ เลือกมุมมองความเปลี่ยนแปลง มันจึงไม่ต้องไปอธิบายอะไรตรงนี้

นางเอกเลิกกับพระเอก เพื่อตามความฝันของตัวเอง (ถ้าเลือกรักพระเอก ก็คงไม่ไปรับเล่นหนังกับดาราคนนั้นทีเป็นปัญหาหรอก)

ความจริงแล้วชีวิตเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เป็นไปตามสังคม เป็นไปตามการเติบโตของเรา หากเรามัวแต่เพิกเฉยต่อปัจจัยรอบข้าง

โดยมิคิดว่าปัจจัยเล็กๆ น้อยๆ นั่น ส่งผลกระทบต่อพฤติกรรม และการกระทำของเรา มัวแต่คิดโทษคู่รักของเราว่าเขาเปลี่ยนแปลง

ปัญหาก็เกิด

---------------------------------------
จะเห็นได้ว่า ตอนที่ 2 ก็ยังคงตอบโจทย์ Theme ใหญ่

"เพราะชีวิตคือการเปลี่ยนแปลง จงยอมรับ พัฒนาและก้าวต่อไปอย่างมีความสุข"

โดยการบอกเล่า รักในวัยทำงาน ที่มีปัจจัยที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมายเข้ามาได้อย่างลงตัว

หากเรายอมรับว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว เกิดจากปัญหาใด แล้วแก้ที่ปัญหานั่น ก็คงมีความสุข

เหมือนที่สุดท้ายแล้ว พระเอก ถามนางเอกกลับไปว่า "เรายังจะกลับมารักกันได้ไหม" เป็นฉากที่แสดงถึงว่า ถ้าเราตัดปัจจัยทุกอย่างออกไป

พูดถึงแค่ "รัก" ของเราสองคน เรายังรักกันใช่ไหม

คำตอบก็คงบอกไปแล้วในหนัง ให้เรายิ้มได้อย่างมีความสุข

-------------------------------------------
แก้ไข - ความคิดเห็นหลังๆ มีเฉลยที่ผมพลาดไป เรื่องตู้ปลาแตกครับ ความหมายน่าจะเหมือนกับที่เพื่อนๆ ช่วยกันแชร์มากกว่า

ไม่ได้สื่อความหมายอย่างที่ผมเขียน แต่ Main ของ ซีนนั้นยังเหมือนเดิม คือ รักถึงจุดแตกหัก

ความคิดเห็นที่ 51  ติดต่อทีมงาน
ตอนที่ 3

"แม้ความรักล่มสลาย จงใช้ชีวิตต่อไป เพื่อชีวิตใหม่ที่รออยู่ข้างหน้า"

เรื่องเปิดมาด้วยเพลงและฉากที่ตัวเอก คุณสู่ขวัญ นั่งเหงาๆ หน้าตาไม่มีความสุข ออกแนว แก่ เลยทีเดียว

เสมือนบ่งบอกว่า ขาดคู่ (คนอื่นเขาเต้นกันเป็นคู่) และใจลึกๆ อยากจะมีคู่ใหม่อีกครั้ง (จากเพลงที่ผมจำไม่ผิดว่ามีเนื้อหาประมาณว่ากำลังหาคู่อยู่ ถ้าผิดขออภัย)

แล้วก็มาชนกับ หนุ่มสุดหล่อ นิชคุณ

นิชคุณ เป็นเด็กอ่อนแอ หมอสั่งให้อยู่เฉยๆ ครอบครัวก็เลี้ยงมาแบบให้อยู่เฉยๆ เป็นการบอกเป็นนัยๆ ว่า ตัวละครตัวนี้ ตลอดทางที่ผ่านมา มีชีวิตที่ทำตามคนอื่นๆ เขา

จนเขาคิดว่าได้ว่า ถ้าเขาเอาชนะคำกล่าวเหล่านั้นได้ละ ถ้าเขาแข็งแรงละ ถ้าเขาพิสูจน์ได้ว่า สิ่งที่หมอบอกมันไม่เป็นจริง

ไม่แน่ว่า เขาอาจปลดพันธนาการที่สังคมมอบให้เขา ก็เป็นได้

การวิ่งของนิชคุณ จึงเป็นการวิ่งสวนทางกับคนอื่น เพื่อเป็นเชิงสัญลักษณ์ที่ว่า ฉันไม่ต้องการทำตามที่สังคมบอกให้ฉันเป็น ฉันไม่ใช่คนอ่อนแออย่างที่สังคมบอก

สู่ขวัญเองก็วิ่งสวนทางตามนิชคุณ เพราะเธอกำลังทำสิ่งที่สังคม ไม่ยอมรับ การรักเด็กที่อ่อนกว่ามากกกก

หนังตอนนี้ใช้ มาราธอนเป็นเครื่องมือในการบอกเล่า แต่ผมว่า มันลึกเกินไป เพราะคนที่ไม่เคยออกกำลังกาย คนที่ไม่เคย ถึงจุดๆ หนึ่ง ที่ถามตัวเองว่า "ทำอะไรอยู่ว่ะ" อาจไม่เข้าใจ

ปีศาจใน กม. ที่ 35 จึงต้องเข้ามาทำหน้าที่บอกเล่าเหตุผลของมาราธอน

และหนังก็ผูกตัวเลขให้ลงที่ 35 เพื่อให้คล้องกับแนวคิด 7 ปี ที่บอกว่าคนอายุ 35 ปี "ทำอะไรอยู่ว่ะ"

คนอายุ 35 มันเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ ถ้าจุดที่คุณยืนอยู่ มันแน่แล้ว คุณจะตอบตัวเองได้ว่า "ทำอะไรอยู่ว่ะ"

แต่ถ้าคนอายุ 35 ที่ยังหาตัวเองไม่เจอ จะตอบคำถามนี้ไม่ได้ว่า ตอนนี้ "ทำอะไรอยู่"

ก็เหมือนกับการวิ่งมาราธอน คนที่เคยวิ่งจริงๆ หรือเคยออกกำลังกายจนถึงจุดหนึ่งที่ตั้งคำถามตัวเองแบบนี้ ผมเชื่อว่า ใครที่เคยถึงจุดนั้นจะตั้งคำถามนี้แทบทุกคน

ผมก็คนหนึ่งที่ตั้งคำถามนี้ ตอบปั่นจักรยานทางไกล มาไกลเกินที่จะย้อนกลับ แต่เสียเวลาเกินที่จะหยุดพัก "เรามาปั่นจักรยานทำอะไรอยู่ตรงนี้ว่ะ"

ผมจึงเข้าใจฉากนี้ได้เป็นอย่างดี และอยากเชิญชวนคนที่ไม่เข้าใจฉากนี้ ให้ลองไปวิ่งดู แรกๆ คุณอาจอยากวิ่งเพื่ออยากรู้

แต่คุณวิ่งไปสักพักหนึ่ง ในยามที่คุณเหนื่อยท้อแท้ แล้วหยุด ก็เหมือนกับฉากคุณสู่ขวัญ วิ่งแล้วบอกว่าฉันไม่ไหวแล้ว ฉันทำไม่ได้หรอก

มันคือ ฉากเชิงที่เปรียบเทียบกับการยอมแพ้การใช้ชีวิต

คุณก็จะจมปลักอยู่กับความพ่ายแพ้

ตัวหนังยังผูกโยง ให้เราเห็นว่าบางครั้งเรายอมแพ้ เพราะสังคม ยอมแพ้เพราะสิ่งที่เรายึดติด และไม่ยอมปล่อยให้มันผ่านไป

เหมือนที่คุณสู่ขวัญ ไม่ยอมมีรักครั้งใหม่ เพราะสัญญากับสามีที่เสียชีวิตไปไว้ ไม่ยอมมีรักครั้งใหม่เพราะคิดว่าครอบครัวคงไม่ยอมรับ ไม่ยอมมีรักครั้งใหม่ เพราะคิดถึงจารีตประเพณีที่คงไม่มีใครยอมรับ ผู้หญิง 42 กับเด็ก 24 หรอก

แต่สิ่งที่ยึดติดเหล่านี้ ค่อยๆ ทลายไป จากคำพูดของนิชคุณ ในหลายๆ ฉาก เช่น

"ทำไมเธอถึงวิ่งสวนทาง" "ก็ไม่มีกฎเขาห้ามไว้"

คำถามนี้ลึก ไอ้ที่เรายึดติดตั้งมากมายในชีวิตเรานั้น มันเคยมีกฎอะไรห้ามไว้หรือ หรือเราแค่ทำตามสังคม เรามัวแต่แคร์สังคม แต่เคยแคร์ตัวเองหรือเปล่า (มาอีกแล้ว)

"ถ้าจะวิ่ง คุณวิ่งแค่กิโลเดียวก็ได้ แต่ถ้าคุณอยากพบชีวิตไหม ค่อยมาวิ่งมาราธอน"

เหมือนกับ การทำอะไรในชีวิต ถ้าไม่คิดจริงจัง ทำเล่นๆ ก็ทำไป แต่ถ้าอยากประสบความสำเร็จ ต้องลงมือจริงจัง

เพราะการวิ่งมาราธอน ไม่ใช่ ลุกขึ้นมาแล้วจะทำได้เลย ต้องมีการเตรียมตัว มีการฝึกซ้อม มีการวางแผน

การทำอะไรในชีวิตให้ประสบความสำเร็จ ก็ต้องมีองค์ประกอบเหล่านี้ช่วยเสมอๆ

-------------------------------------------------
ส่วนใครที่สงสัยว่า นิชคุณ ชอบ สู่ขวัญจริงหรือเปล่า มีหลายฉากที่เฉลยไว้เรียบร้อยแล้ว เขาเรียกว่า บทจีบกัน

"ถ้าผมส่งเมล์หาคุณ คุณจะตอบผมไหมละ" มันบอกว่า นิชคุณเขาขอเมล์เรียบร้อยแล้วนะ แล้วเขาก็อยากติดต่ออย่างต่อเนื่อง คุณอนุญาตไหม

สู่ขวัญตกอยู่ในห้วงความคิด ความทุกข์ ความสับสนในชีวิต (หยิบรูปเข้า หยิบรูปออก โทรศัพท์ฟังเสียคนรักที่เสียไป มองรูปแม่ที่สะท้อนว่า ถ้าฉันคิดเลือกตามใจฉัน คนรอบข้างฉันจะรู้สึกอย่างไร)

นิชคุณเป็นห่วงแค่ไหน โทรหาตั้ง 40 ครั้ง คนธรรมดา เพื่อนร่วมออกกำลังกายธรรมดา หรือแม้เพื่อนกันธรรมดา คงไม่ห่วงเท่านี้ คงไปวิ่งแล้วก็ค่อยโทรหาใหม่ คงคิดว่าวันนี้อาจเหนื่อย

แต่คนที่รักกัน เป็นร้อยครั้งก็คงต้องโทร ...ใช่ไหม ...

และจุดที่บอกชัดเจนคือ ความเป็นห่วง "ผมขึ้นไปหานะ"

คนไม่รักกัน ไม่ห่วงกัน ไม่ขึ้นไปถึงที่ห้องหรอก
------------------------------------------------------------
ยังมีฉากเชิงสัญลักษณ์อีกหลายฉาก เช่น ฉากไม่ขึ้นลิฟต์

เป็นฉากแสดงถึงทางเลือกของชีวิต การลุกขึ้นทำอะไรอย่างจริงจัง การลุกขึ้นเปลี่ยนแปลงตัวเอง อย่างการวิ่งมาราธอน มันส่งผลให้ชีวิตมีทางเลือก ไม่ถูกยึดติด หรือจมปลักเวลาเกิดปัญหา

หากเป็นปกติ เธอคงนั่งรอจนกว่าลิฟต์จะซ่อมเสร็จ

แต่เธอมีทางเลือกแล้ว เธอเลือกที่จะวิ่งขึ้นบันได

และตั้งแต่นั้นมาก็เห็นได้ว่า ชีวิตเธอมีทางเลือกตลอด

เธอคลาดกับนิชคุณ เธอก็เลือกทางเดินใหม่ ไม่รอกดลิฟต์
(คุยกันเสร็จ เธอยังเลือกขึ้นบันไดกลับไป)

หรือเสียงพากย์ที่ดูเหมือนน่ารำคาญ แต่เสียงพากย์นั้น คือ เครื่องมือที่บ่งบอกอธิบายเป็นอย่างดี

เสียงนั่น เป็นตัวแทนของสังคม บอกเรื่องราวที่สังคมและเธอคิด ฉากเหมือนทะเลาะกับนิชคุณ เธอก็คิดไปไกลในเวลาเสี้ยววินาที ทั้งๆ ที่ความจริงไม่ได้เป็นอย่างนั้น

เป็นเสียงที่บอกเล่าให้รู้ว่า เธอ เข้าใจทุกอย่างที่สังคมมอง เพียงแต่เธอจะยอมไม่ทำตามสิ่งที่สังคมมองหรือเปล่า

ในขณะเดียวกัน หลายๆ ครั้ง เธอก็มักมองเรื่องราวต่างๆ ในชีวิต ดังนี้สังคมบอกให้เป็น

------------------------------------------------------
ในที่สุดแล้ว เมื่อแม่เธอมาหา แม่เธอบอกว่า แม่ยอมรับในความคิดของลูก แม่ยอมรับว่าไม่แปลกที่เธอจะมีชีวิตใหม่ ไม่แปลกที่เธอจะมีเด็กหนุ่มดูแล

และเขาก็เอาเสื้อมาให้ เป็นซีนที่บอกว่า ถึงเวลาแล้วนะ ที่จะลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงตัวเองอย่างจริงจัง

ถ้าเธอไม่เปลี่ยนแปลงตัวเอง  ถ้าเธอยังจมปลักอยู่กับปัญหา อยู่กับชีวิตเดิม

เธอก็คงไม่ได้เห็นพระอาทิตย์ที่สวยงาม ที่เป็นเป็นสัญลักษณ์ของการเริ่มต้นชีวิตใหม่

ขณะที่เธอวิ่งไป เธอมัวแต่ถามตัวเองว่า เมื่อไรฉันจะเจอปีศาจที่ กม. 35 แม้เธอจะล้มไปแล้ว ตื่นมาก็ยังถาม เด็กว่านี่กม.ที่เท่าไร

แต่ไม่มีใครตอบเธอ และไม่มีคำถามนั่น

เพราะ ชีวิตเธอ ไม่จำเป็นต้องถามอีกต่อไป เธอเลือกทางเดินของเธอแล้ว เธอได้ตอบคำถามของปีศาจไปแล้ว ตั้งแต่เธอเปลี่ยนใจลงแข่งขัน
------------------------------------------------
ฉากทุกฉาก ทุกซีน นำเสนอเป็นองค์เดียวคือ

จงมีชีวิตอยู่กับปัจจุบัน ดำเนินชีวิตให้มีความสุข รอคอยสิ่งใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้น

การมองไปข้างหน้า 7 ฟุต เพื่อได้เห็นสิ่งใหม่ๆ ใน 7 ฟุตถัดไป

-------------------------------------------------
"เพราะชีวิตคือการเปลี่ยนแปลง จงยอมรับ พัฒนาและก้าวต่อไปอย่างมีความสุข

ความคิดเห็นที่ 52  
เรื่องแรก รักมีปัญหา เพราะไม่ยั้งคิด

เรื่องที่สอง รักมีปัญหา เพราะไม่รู้จักคิด ว่าปัญหาที่แท้จริงคืออะไร

เรื่องสุดท้าย รักมีปัญหาที่ไม่อาจแก้ไขได้ ก็ต้องรู้จักปล่อยวาง และเริ่มต้นใหม่

แต่ทุกเรื่องก็ไปในทางเดียวกัน คือ

ตลอดทุกช่วงชีวิต คือ การเปลี่ยนแปลง จงยอมรับ พัฒนาและก้าวต่อไปอย่างมีความสุข

ความคิดเห็นที่ 72  ติดต่อทีมงาน
เราชอบเรื่องสามที่สุด เพราะนอกจากคำพูด การแสดงแล้ว สิ่งของที่อยู่ในฉากก็ทำให้เราคิดได้
ถึงแม้จะมีคนบอกว่าไม่สนุก แต่เราชอบมากเลยนะ ด้วยความที่ชอบหนังอุ่นๆ ออกมาแล้วอยากกลับเข้าไปดูอีก

สำหรับที่ไม่เคยออกกำลังกาย ฮา เราตีความเรื่อง3เป็นอีกอย่างนึง
การวิ่งมาราธอนก็เหมือนชีวิต จุดหมายที่เราตั้งเป้าไว้ แล้วอยากไปให้ถึง

ปีศาจกิโลเมตรที่35 ก็เหมือนก่อนถึงเราจะถึงจุดหมายปลายทางของเรา ก็ต้องมีอุปสรรคมาขวางกั้นเสมอ
อุปสรรคที่ยากลำบากถึงขนาดให้เราเลิกและหยุดที่จะทำ ที่ปีศาจถามเราก็เหมือนว่า เราจะเดินต่อไป หรือเราจะหยุดเพียงเท่านี้

การวิ่งมาราธอนที่ไม่เตรียมตัว แล้วสุดท้ายก็ไปไม่ถึง เปรียบกับ ชีวิตต้องผ่านอะไรมากมายกว่าถึงสิ่งที่หวัง ไม่ใช่อยู่ดีๆก็ได้มาง่ายๆ

ส่วนที่พี่คุณบอกว่า"ถ้าคุณอยากวิ่งวิ่งแค่กิโลเดียวก็ได้ แต่ถ้าอยากเปลี่ยนชีวิตคุณค่อยมาวิ่งมาราธอน"
การวิ่งก็เหมือนกับชีวิตธรรมดา ลองทำอะไรสักอย่างสั้นๆ แล้วก็บอกตัวเองว่าเราผ่านมาแล้วนะเราทำมาแล้ว
มาราธอนก็คือการพยายามทำอะไรสักอย่างที่เราตั้งใจให้ถึงที่สุด ถึงจะเสี่ยงสักแค่ไหนก็จะลองสักครั้ง

ร่างกายมนุษย์ถึงจะหนักขนาดไหนก็ปรับตัวได้เสมอ

เราชอบการแสดงของคุณสู่ขวัญมากค่ะ ทั้งอารมณ์ คำพูด ทุกๆอย่าง
ส่วนพี่คุณ อาจจะแข็งไปหน่อย แต่ได้อารมณ์เด็กธรรมดาคนนึงที่อยากต่อสู้ ทำตามเป้าหมายของตน และพยายามชนะขีดจำกัดของตนให้ได้
เป็นเรื่องที่ไม่เศร้า ไม่ได้มีบทซึ้ง แต่เราร้องไห้ แล้วถามตัวเองว่า "กำลังทำอะไรอยู่"เลยค่ะ

สุดท้ายนี้ดูแล้ว เราอยากออกไปวิ่งค่ะ ไม่ใช่วิ่งมาราธอน แต่ออกวิ่งไปตามความฝัน แล้วไปให้ถึงเป้าหมายของตนเอง:) อาจจะมีล้มบ้าง อยากเลิกบ้าง แต่พรุ่งนี้ก็มีวันใหม่แล้วคุณ ทิ้งสิ่งเลวร้ายไว้เมื่อวาน แล้วพยายามอีกครั้งในวันใหม่

 ความคิดเห็นที่ 117  
เราแอบคิดอีกข้อนึงจาก  42.195 ตอนนึงที่เด่นๆเลยคือฉากนิชคุณวิ่งชน เราว่าเค้าพยายามเน้นการที่รองเท้าขาดและแว่นหลุดให้มันSlowและชัดๆ ซึ่งน่าจะเป็นการสื่อถึงจุดเปลี่ยนที่นิชคุณได้เข้ามาเปลี่ยนเส้นทาง(รองเท้า)และมุมมอง(แว่นตา)ใหม่ให้กับคุณสู่ขวัญ ซึ่งฉากนั้น นิชคุณพยายามจะซื้อแว่นให้ใหม่ แต่สู่ขวัญไม่ยอมรับ น่าจะหมายถึงการที่เธอไม่อยากเปลี่ยนมุมมองและทัศนคติ แต่อย่างไรก็ตาม รองเท้าวิ่งที่นิชคุณซื้อมาให้ในวันรุ่งขึ้น ก็ทำให้เส้นทางในชีวิตของสู่ขวัญเปลี่ยนไปในที่สุด ...

ถ้าเรามองชีวิต คือการวิ่งมาราธอน เราจะรู้และเตรียมใจว่า จะต้องมีความเหน็ดเหนื่อยยากเย็น มีการฝึกซ้อม มีความท้อใจ แต่อย่างไรก็ตาม จุดหมายของเรายังคงเด่นชัด และรางวัลของผู้ที่เข้าสู่เส้นชัยทุกคน จะเท่าเทียมกัน...
ความคิดเห็นที่ 159
สิ่งแรกที่ทำหลังจากดูหนังเรื่องนี้จบคือ

search คำว่า  "กฎของไมโล"

ถ้าเราจำกันได้  ว่าประโยคนี้ผุดมาตอนที่ คุณสู่ขวัญบอกความในใจกับนิชคุณ
ประมาณว่าเธอก็ฉลาดจะตาย รู้สารพัดเรื่องทั้งเรื่องมาราธอน เรื่องกฎของไมโล
 แล้วเธอจะไม่รู้เลยเหรอว่าสามสี่เดือนมานี่ฉันรู้สึกยังไงกับเธอ...

จากเว็บไซต์ http://www.jogandjoy.com/s0101/index.php?pgid=index
ของคุณ กฤตย์  ทองคง  พูดถึงเทคนิคการฝึกวิ่งมาราธอน ที่พอนึกถึงหนังด้วย
แล้วมันอึ้งมากกก

"หนึ่งในวิธีการที่ฝึกตรงกันมากก็คือ "กฎของไมโล" (MILO'S PRINCIPLE) ที่เรา
ควรรู้จักเอาไว้ ไมโล ในที่นี้ไม่ใช่ไมโลเครื่องดื่มนะครับ คนละอย่างกัน
ไมโลเป็นตำนานโบราณของกรีกที่เป็นชื่อของนักมวยปล้ำผู้ซึ่งไม่เคยแพ้ใคร
เขาเป็นนักกีฬาที่มีชื่ออยู่ระหว่าง 532-516 ปี ก่อนคริสตกาล ไมโลมีวิธีการฝึก
ร่างกายของเขาให้แข็งแกร่งตามหลักการง่ายๆด้วยการฝึกยกลูกวัวทั้งตัว ชูขึ้น
เหนือหัวทุกๆวันและลูกวัวซึ่งจะเติบโตและมีน้ำหนักมากขึ้นตามเวลาที่ผ่านไป
ก็ย่อมเป็นการทำให้ไมโลแข็งแกร่งขึ้นทีละน้อยอย่างค่อยเป็นค่อยไป ไมโล
ไม่ได้ยกลูกวัวเมื่อวานแล้วรุ่งขึ้นไปยกแม่วัว เพียงแต่ยกลูกวัวเท่านั้นแต่ยกทุกวัน
 ดังนั้นเรื่องของไมโลจึงบอกแก่เราว่า การฝึกร่างกายเพื่อเพิ่มระดับประสิทธิภาพ
ใดๆก็ตาม เราจำต้องขยับทีละน้อย อย่าฮวบฮาบจนธรรมชาติร่างกายค่อยๆปรับ
ความสามารถ รับอุปสรรคที่หนักเช่นนั้นได้...

...เรื่องกฏค่อยๆเพิ่มนี้มันก็เป็น "ของตาย" อยู่แล้วไม่น่าเอามาเล่ากันฟังเลย
มันซิมเปิ้ลแท้ๆ คืออย่างนี้ครับกับ "ไอ้ซิมเปิ้ลๆ" นี่แหละเห็นกันมาบ่อยเสียด้วย
 มีทั้งประเภทที่ฝึกหนักเกินไป,มากเกินไป,ถี่เกินไป,ไม่ชอบวอล์มลงเร็วเลย,
รวมทั้งสูตรการฝึกที่ไม่ลงความเร็วเลย คือเอาแต่วิ่งเสมอ,เยอะเข้าว่า แต่อยาก
ได้ถ้วยรางวัลแล้วอย่างนี้จะคว้าดวงดาวได้อย่างไร ติ้ดต่างว่า คุณไมโลมาฝึกวิ่ง
 ผู้เขียนว่า เขาคงค่อยๆเพิ่มให้เร็วกว่าที่วิ่งได้นานแค่ไหนก็ให้วิ่งให้นานกว่านั้น
เข้าไปอีกเล็กน้อย (โดยอาจหย่อนควารเร็วลงบ้างแล้วค่อยเพิ่มเข้ามาทีหลัง)
 เคยพักนานแค่ไหนก็ให้ใช้เวลาพักที่น้อยลง (หมายความรวมทั้งการจ๊อกเบา
สลับ เพื่อคืนสภาพและเซ็ทวันบางวันเป็นวันหยุดวิ่งลงในโปรแกรมฝึกด้วย)
เมื่อคุณไมโลจะขยับเพิ่มใดๆก็ตามเขาจะควบคุมความเข้มไม่เกิน 10% ต่อสัปดาห์ ก่อนที่จะเพิ่มเข้าไปอีก เช่นนี้ไปเรื่อยๆจนกระทั่งถึงจุดเป้าหมายความเร็จที่ต้องการ
 และในทำนองกลับกัน ถ้าคุณวิ่งมาแล้วเป็นแรมปีแล้วก็ไม่เคยวิ่งให้เร็ว
กว่าที่เคยวิ่งได้อยู่ คุณก็จะวิ่งได้แค่นั้นตลอดไป
 ถ้าเราต้องการพัฒนาที่ให้
เร็วขึ้น เราต้องรักษาระดับความทรมานจากความหอบเหนื่อย ให้หอบเหนื่อยอยู่ตลอดเวลา ร่างกายก็จะหรับตัวให้ทรมานที่น้อยลงจากวันคืนมารฝึกผ่านไป และ
เมื่อใดที่เรารู้สึกทรมานน้อยลงก็ให้เติมหนักเข้าไปอีกเพื่อรักษาระดับความหอบ
เหนื่อยให้ทรมานเท่ากับเมื่อแรกฝึก ร่างกายก็จะปรับประสิทธิภาพขึ้นเพื่อรับมือ
จนเข้าสู่การทรมานที่น้อยลง แล้วก็เติมอัดอีกอย่างนี้ไปเรื่อยๆที่ละน้อยๆเหมือน
อีตาไมโล ทีนี้กว่าคุณจะรู้ตัวว่าอะไรเป็นอะไร คุณจะพบว่า คุณยกลูกวัวได้
เอ้ย..ไม่ใช่ คุณจะพบว่าเหนื่อยน้อยลงกว่าเพื่อนนักวิ่งที่เคยมีฝีเท้าไล่เลี่ยกัน
แต่คุณวิ่งเข้าเส้นชัยก่อน ใครๆเขาเป็นตะคิวกัน,ใครๆเขาชนกำแพงกัน คุณ
กลับเดินกลับเย้ยยิ้มร่าหลังเข้าเส้นชัย
 ทักทายคนโน้น คนนี้ เรื่องมันเป็น
อย่างนี้แหละครับ"

โอ้ อ่านแล้วนี่มันไม่ใช่เทคนิกการวิ่งแล้วนะ  แต่มันเป็นปรัชญาการใช้ชีวิตแล้ว
เหมือนทุกครั้งที่สู่ขวัญหยุดพักเหนื่อย แล้วนิชคุณบอกว่าถ้าไม่อดทนแล้วจะ
พัฒนาตัวเอง (ก้าวผ่านกำแพง หรือพบชีวิตใหม่) ได้ยังไง  ถ้าไม่อดทนต่อ
ความลำบาก ก็กลับไปเป็นป้าแก่ ๆ นอนแทะช๊อกโกแลตหน้าทีวีเถอะ  :P



ความคิดเห็นที่ 160  ติดต่อทีมงาน
แก๊กที่ชอบมากอีกตอน คือช่วง กิโลเมตรที่ 35  ของคุณ ที่ดันพอดีตรงเส้นกากบาทเหลือง
พอดิบพอดี  ประมาณว่าห้ามหยุดนะโว้ย ซึ่งพอคุณหยุดก็เอวังจริง ๆ (คนเขียนบทเข้าใจคิดดี)

ส่วนกิโลเมตรที่ 35 ของคุณขวัญ นี่ผมว่าปีศาจมาถามขวัญแล้วนะ  แต่คำตอบของขวัญนั้น
น่าสนใจทีเดียว  เพราะในขณะที่หน้ามืดสุดชีวิต คุณโผล่มาพอดี  แล้วคุณขวัญก็ลุกขึ้นวิ่งต่อ
ซึ่งผมว่ามันโรแมนติกมาก  เหมือนในช่วงเวลาที่ชีวิตมันไปต่อไม่ไหวแล้ว  แต่พอมีใครสักคน
อยู่ข้าง ๆ มันก็เลยมีเรี่ยวแรงในการสู้ชีวิตอีกเยอะ  (จขกท ก็นักปั่นจักรยาน ก็คงพอนึกออกว่า
การปั่นจักรยานคนเดียว กับมีเพื่อนอยู่ข้าง ๆ มันเหนื่อยผิดกันขนาดไหน)

การที่คุณตัดสินใจวิ่งกลับมารับคุณขวัญ  และคุณขวัญตัดสินใจวิ่งต่อ  แล้วก็วิ่งไปด้วยกัน
มันคงบอกเป็นนัย ๆ แล้วว่าหลังจากนี้ความสัมพันธ์ของทั้งคู่จะยังไงต่อ  แอบสงสารคุณที่
วิ่งไปถึงเส้นชัย 42 กม. แล้ว ต้องวิ่งอีก 7 กม. มารับคุณขวัญ  แถมต้องวิ่งกลับไปเส้นชัยต่อ
อีก  ไม่แปลกที่ตอนท้าย คุณถึงกับทรุดหมดแรง  แล้วคุณขวัญเองกลับเป็นคนกระตุ้นให้วิ่งต่อ
และคอยให้กำลังใจ

คนที่คอยระวังหลังให้กัน (look after) คอยกระตุ้นให้เรากลับมาดำเนินชีวิตต่อไปได้ และวิ่ง
อยู่ข้าง ๆ เรา  ถ้าไม่เรียกว่า "คนรัก" ก็ไม่รู้ว่าจะเรียกว่าอะไรแล้ว ^-^

 ความคิดเห็นที่ 234  ติดต่อทีมงาน
รวมเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยจาก "รัก 7 ปีดี 7 หน"
จริงๆ แล้ว GTH ครบรอบ 7 ปีในปี 2011 แต่เนื่องจากทีมงานทำไม่ทัน (ฮา) เลยเลื่อนมาเป็น 2012
โปรเจ็คหนังเรื่องนี้มีข้อแม้อย่างหนึ่งว่าต้องใช้นักแสดงที่เคยร่วมงานกันมา (ยกเว้นนิชคุณเป็นกรณีพิเศษ)
หนังเริ่มถ่ายทำเมื่อเดือนมีนาคม 2555
ผู้กำกับให้คำจำกัดความว่า 14 คือวัยที่ความรักต้องการการยอมรับ, 21 ความรักที่ต้องการความเป็นเจ้าของ, 42 ความรักที่มาพร้อมกับชีวิตที่ต้องดำเนินต่อไป
GTH ออกการ์ตูนของหนังเช่นเดียวกับเรื่องก่อนๆ แต่ที่ต่างคือไม่มีเนื้อเรื่องเกี่ยวกับ รัก 7 ปีเลย แต่เป็นเนื้อหาส่วนขยายของหนัง GTH เรื่องก่อนๆ 7 เรื่อง

14
กอล์ฟ (ปวีณ ภูริจิตปัญญา) ผู้กำกับเจ้าพ่อหนังผี จาก บอร์ดี้ศพ #19, 4 แพร่ง, 5 แพร่ง มากำกับหนังรักครั้งแรกในเรื่อง 14
จริงๆ แล้วเก้าเป็นคนไม่ใช้ Social Network และออกจะแอนตี้ด้วยซ้ำ
ฉากเริ่มต้นด้วยสู่ขวัญอ่านข่าวอยู่ เป็นจุดเชื่อมกับเรื่องสุดท้าย
ในฉากที่ทั้งป่วนกับมิลค์ไปเที่ยว Ocean World ในรูปถ่ายมีจอน (ซันนี่) ในเรื่อง 21/28 กำลังให้อาหารปลา ติดอยู่ในรูปด้วย
หน้าจอ Pantip ที่ป่วนเข้าไปตั้งกระทู้ถามในท้ายเรื่อง เป็นฟีเจอร์ใหม่ของ Pantip 3G ที่น่าจะเปิดตัวในต้นปี 2556
ปันปัน เล่น Ukulele ไม่เป็น ต้องซ้อมกว่า 2 เดือนก่อนจะมาเล่นในหนัง

เช่นเดียวกับเก้า ที่พิมพ์คีย์บอร์ดไม่คล่องพอ เลยต้องซ้อมพิมพ์ผ่านโปรแกรมสอนพิมพ์เป็นเดือน
ทั้งป่วนและมิลค์ใช้ iPhone 4S และ iMac ในหนังทั้งคู่ (ถูกต้องแล้วครับ)
โปรแกรมที่ทั้งสองคนใช้คุยกันคือ Skype for Mac
โปรแกรมที่ป่วนใช้ตัดต่อวิดีโอคือ Final Cut Pro X
ซับอังกฤษแปลคำว่า "จ๊ะ คันหู" เป็น "Lady Gaga"
ชื่อย่อโรงเรียนที่ทั้งสองคนเรียนอยู่คือ ฟทว. ซึ่ง(เท่าที่หาดู)ไม่มีโรงเรียนนี้อยู่จริง
เพลงธีมประจำเรื่อง 14 ชื่อเพลง "What's on your mind?" เป็นชื่อเดียวกับที่อยู่ในช่องที่จะโพสต์ข้อความใน Facebook
เพลง "เธอคือของขวัญ" ที่มิลค์เล่นให้ป่วนฟัง เป็นเพลงของนักร้องชื่อ สิงโต นำโชค
จักรยานที่มิลค์ปั่นในสวนลุมเป็นเบอร์ 14 ส่วนของป่วนเบอร์ 7
แอคเคาน์ที่ป่วนใช้เล่น Youtube ชื่อ Puanz Yokee ซึ่งมีอยู่จริง แต่ไม่มีวิดีโอข้างใน เข้าใจว่าทีมงานสร้างเอาไว้สำหรับถ่ายหนังโดยเฉพาะ
เช่นเดียวกับใน Facebook ก็ใช้ชื่อ Puanz Yokee เช่นเดียวกัน มีรูป Cover ที่เป็นสีดำตอนทะเลาะกับมิลค์ และที่เป็นรูปตัวเองในตอนแรกด้วย

21/28
หนังเรื่องแรกของซันนี่ (เพื่อนสนิท) กับเรื่องนี้ ห่างกัน 7 ปีพอดี
ไม่น่าเชื่อว่า Siam Ocean World ก็มีอายุครบ 7 ปีเท่ากันกับ GTH
ปิ๊ง อดิสรณ์ผู้กำกับ ในชีวิตจริงสนิทกับ คริส หอวังมาก ถึงขนาดโทรคุยกันแทบทุกวัน
ซันนี่ต้องเพิ่มน้ำหนักให้ได้ถึง 80 กิโลกรัม และลดกลับมาให้ได้ 69 กิโลกรัม ภายในเวลา 4 เดือน
ซันนี่ต้องเริ่มเพิ่มน้ำหนักก่อนเข้าฉากกับคริสประมาณ 6 เดือน พร้อมกับเรียนว่ายน้ำไปด้วย พอถ่ายฉากอ้วนเสร็จ ก็หยุดกองไป 6 สัปดาห์เพื่อทำให้ผอม แล้วกลับมาถ่ายใหม่
วิธีการลดน้ำหนักของซันนี่คือ อาทิตย์แรกกินแค่น้ำเต้าหู้วันละ 3 แก้ว แล้วนอนอยู่บ้านเฉยๆ ไม่ออกไปไหนเพราะถ้าร่างกายขยับจะใช้พลังงาน หลังจากผอมแล้วก็เข้าฟิตเนสให้หุ่นดี
ไม่น่าเชื่อว่าซันนี่จะว่ายน้ำไม่เป็น แต่เมื่อต้องมารับบทผู้ดูแลสวนสัตว์น้ำ ซันนี่เลยต้องเรียนว่ายน้ำ และดำน้ำอย่างหนักก่อนมาแสดง

เหมยรี่ในรถไฟฟ้าฯ อายุ 30 ปี แต่แหม่มในรัก 7 ปี อายุ 21 และ 28 ปี
มีฉากที่สู่ขวัญอ่านข่าวเรื่องหนัง Sea You ภาค 2 เป็นจุดเชื่อมต่อกับเรื่องสุดท้าย
ฉากที่แหม่มไปรอแคสหนังอยู่ มีโปสเตอร์หนัง GTH อยู่ข้างหลังหลายเรื่อง แต่เปลี่ยนชื่อหนังใหม่เช่น กอด เปลี่ยนเป็น มือที่สาม, กวนมึนโฮ เปลี่ยนเป็น ยินดีที่ไม่รู้จัก (via @beauranzed )
ดาราหน้าหม้อที่เป็นข่าวกับแหม่มในนิตยสาร คือ ตุ้ย AF (กอด) ส่วนอีกคนที่เรียกว่านักร้องเสล่อ ไม่ต้องบอกก็รู้ว่าหมายถึงเป้ เสลอ

ชื่อของผู้สร้างหนัง Sea You คือ 365 Film ซึ่งเป็นชื่อเดิมของกลุ่ม 6 ผู้กำกับแฟนฉัน
วงร๊อคที่แหม่มเล่นชื่อวง To Die For ซึ่งจริงๆ เป็นวงดนตรีร็อคชื่อดังวงหนึ่ง
วงไอดอลชายที่จอนเป็นนักร้องอยู่ ชื่อวง F14 ล้อเลียนวง F4

สมาชิกในวง F14 นั้น มีคนที่เป็นบอยแบนด์จริงๆ คือ 6 หนุ่มวง Vwiilz
ตอนที่แหม่มขึ้นฉากจากในน้ำ แล้วมานั่งหนาวอยู่บนเกาะ จอนยื่นเสื้อตัวนึงให้แหม่มใส่ เสื้อตัวนั้นคือเสื้อของวง F14

42.195
พี่เก้งเล่าว่า ที่มาของตอน 42.195 มาจากที่คืนนึงคุณวิสูตรโทรมาเล่าเรื่องนี้ที่เกิดกับผู้หญิงคนหนึ่งให้ฟัง ซึ่งเวลาผ่านมานานมากแล้ว พอตั้งใจจะทำเรื่องนี้ พี่เก้งกลับไปถามคุณวิสูตรอีกที คุณวิสูตรบอกว่าจำไม่ได้แล้ว พี่เก้งเลยเดาว่าเวลานั้นที่คุณวิสูตรโทรมาน่าจะเข้าช่วงกระป๋องที่ 6
เหตผลที่เลือก "สู่ขวัญ" มาเล่น เพราะพี่เก้งชอบ "โคยูกิ" นางเอก Always แล้วระหว่างไปเที่ยวญี่ปุ่น ไปเจอโฆษณาคัทเอาท์ขนาดใหญ่ของ SK-II และมีโคยูกิเป็นพรีเซ็นเตอร์ เลยทำให้นึกถึง พรีเซ็นเตอร์ SK-II ที่เมืองไทย ก็คือสู่ขวัญนี่เอง และพอดีว่าบทเหมาะ อายุได้ด้วย
เหตผลที่เลือก "นิชคุณ" มาเล่นเพราะต้องการเด็กหนุ่ม ที่สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนอื่นได้
ในหนังเราจะไม่ได้ยินชื่อของนิชคุณและสู่ขวัญเลย โดยบทบรรยายจะเรียกทั้งสองคนว่า "เขา" และ "หล่อน"

ในหนัง นิชคุณอายุ 24 ปี สู่ขวัญอายุ 42 ปี ห่างกัน 18 ปี
นิชคุณต้องเคลียร์คิวให้ได้ถึง 20 วัน เพื่อมาแสดงหนังที่เมืองไทย ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากลำบากมาก
นิชคุณใช้เวลาที่อยู่เกาหลีซ้อมวิ่งทุกวัน เพื่อให้ร่างกายพร้อม ก่อนที่จะมาแสดงที่เมืองไทย
ระยะทางที่สู่ขวัญวิ่งรวมกันทั้งหมดตลอดการถ่ายทำคือ 500 กิโลเมตร !!
แม่ของสู่ขวัญในเรื่องคือ เย็นจิต หรเวชกุล หรือแม่แท้ๆ ของนิชคุณนี่เอง
ผู้ให้เสียงบรรยาย ที่อารมณ์จะซึ้งก็กินใจ อารมณ์จะฮา ก็ฮาสุดยอด คือเสียงของ สุชาดี มณีวงศ์ หรือที่รู้จักกันในนามผู้ให้เสียงในรายการ "กระจกหกด้าน"(Update: ข้อมูลใน wikipedia ไม่ถูกต้อง) คือเสียงของ ครูแอ๋ว อรชุมา ยุทธวงศ์ ครูสอนการแสดงชื่อดัง

สู่ขวัญพกโทรศัพท์ iPhone ของสามีกับตัวอยู่เสมอ ส่วนตัวเธอเองใช้ BB แม้แต่ตอนต้นเรื่องที่ชนกับนิชคุณ ก็มีโทรศัพท์ทั้ง 2 เครื่องตกอยู่
ฉากที่วิ่งมาราธอน มีป้ายโฆษณาหนัง Sea You ภาค 2 เป็นจุดเชื่อมกับเรื่อง 21/28
สู่ขวัญใช้เบอร์ F 027 วิ่งมาราธอน ซึ่ง F หมายถึงผู้หญิง ส่วน 027 ก็คือวันเกิดของสู่ขวัญเอง
นิชคุณใช้เบอร์ M 742 วิ่งมาราธอน ซึ่ง M หมายถึงผู้ชาย ส่วน 742 เป็นตัวเลขเชื่อมโยงกับชื่อหนัง 7 - 42
เช่นเดียวกับนักวิ่งชายทุกคนในหนังจะมีตัว M นำหน้าเบอร์
ชุดที่นักแสดงใส่วิ่ง เสื้อ กางเกง และรองเท้า เป็นยี่ห้อ Adidas
ฉากที่มีวง 25 Hour มาเล่นในสวนลุม มีป้ายชื่องานว่า "25 Hour in Garden"
โอปอล์รายงานข่าวกับนักข่าวชายเรื่องการทะเลาะกันของวัยรุ่น แล้วกระสุนโดนจระเข้ คิดว่าน่าจะเป็นข่าวจากภาพยนตร์เรื่อง ATM เออรัก เออเร่อ [via Stitch Zaa]
ห้องของสู่ขวัญหมายเลข 7642 เป็นเหมือนผมคูณของตัวเลข [via @shinnannu]
มาราธอนรายการที่ทั้งสองคนไปวิ่งคือ Bangkok Giant Marathon 2012 ส่วนทุกฉากที่นิชคุณวิ่งแล้วล้มลงปีที่แล้ว จะใช้ป้าย Giant Marathon 2011 (ทีมงานใส่ใจรายละเอียดมาก) [via Supanet Ma-yom Rickmann]

สู่ขวัญเมมชื่อนิชคุณว่า "Finisher1988" โดย Finisher หมายถึงนักวิ่ง ส่วนปี 1988 คือปีเกิดของนิชคุณ
คอนโดที่สู่ขวัญอยู่ชื่อ "บ้านแสนสิริ" อยู่ใกล้รถไฟฟ้าราชดำริ และสามารถเดินมาสวนลุมได้
ฉากที่สู่ขวัญวิ่งขึ้นทางหนีไฟ เพื่อขึ้นไปเอารองเท้าที่แขวนไว้ เราจะได้เห็นกล้องถ่ายตอนวิ่งขึ้นบันไดทั้งหมด 3 ชั้น คือชั้นที่ 7, 14 และ 21
จุดที่ทั้งสองคนวิ่งสวนทางกันในมาราธอน คือกิโลเมตรที่ 21
จุดพระอาทิตย์ขึ้นที่สะพานพระราม 8 คือกิโลเมตรที่ 28
กิโลเมตรที่ 35 อยู่บริเวณถนนพระสุเมรุ
ทฤษฎีไมโล คือการที่เราวิ่งในระยะที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในแต่ละอาทิตย์ แล้วร่างกายจะปรับตัวให้สามารถวิ่งในระยะนั้นได้เอง
ระยะ 30-35 กิโลเมตรเป็น "ระยะปีศาจ" สำหรับคนที่วิ่งมาราธอนทุกคน เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "ระยะถีบกำแพง" เพราะร่างกายกำลังจะหมดพลังเต็มที่แล้ว ต้องใช้แรงใจอย่างมากในการจะวิ่งต่อ


ที่มา - GTH, @beauranzed [1][2], Pantip [1][2], นิตยสาร aday - 143, Filmax 61

ลองอ่านดูครับ แล้วคุณจะรู้จักหนังเรื่องนี้มากขึ้น ^^


2 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

พี่ แปล เพลง The beat goes on ให้ผมบ้างดิคับ

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

หล่อนไม่รับแว่นตาอันใหม่ เพราะหล่อนไม่อยากใส่แว่นตาแล้ว

แสดงความคิดเห็น