พูดภาษาอังกฤษให้ดี แนวจิตวิทยา ตอนที่ 10 : ประสบการณ์การทดลองส่วนตัวในการเรียนภาษาอังกฤษ

ตอนที่ 10  :   ประสบการณ์การทดลองส่วนตัวในการเรียนภาษาอังกฤษ
เนื้อหาทั้งหมดนี้เรานำมาจากบทความของคุณ คนบ้านเดียวกัน บนเว็บ http://www.pantip.com
ลิงค์บทความ :    http://www.pantip.com/cafe/library/topic/K10586407/K10586407.html
ต้องขอขอบคุณคุณ "คนบ้านเดียวกัน" จริงๆที่นำบทความดีๆแบบนี้มาแบ่งปันค่ะ

สวัสดีท่านผู้อ่านทุกท่านอีกครั้งน่ะครับ สำหรับบทความวันนี้จะเป็นเรื่องราวการทดลองของผมกับเพื่อนที่มหาลัย เมื่อหลายปีก่อน ในตอนนี้ผมจะยังไม่กล่าวถึงเรื่อง Input หรือ Output น่ะครับแต่จะเป็นการเล่าประสบการณ์การทดลองส่วนตัวในการเรียนภาษาอังกฤษของผมเอง



หากท่านผู้อ่านยังจำได้ในตอนแรกสุด ผมเคยได้กล่าวไว้ว่า ผมเคยได้มีโอกาสเข้าเรียนมหาวิทยาลัยที่เป็นหลักสูตรนานาชาติแห่งหนึ่ง แต่เนื่องจากนักศึกษามหาวิทยาลัยส่วนใหญ่เป็นนักเรียนที่มาจากโรงเรียนไทยและส่วนน้อยที่มาจากโรงเรียนนานาชาติ จึงทำให้การใช้ภาษาอังกฤษระหว่างนักเรียนด้วยกันจึงน้อยมาก นอกเสียจากในชั้นเรียนจะมีนักศึกษามาจากต่างประเทศ บ้างแต่ส่วนใหญ่เองนั้นก็ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาแรก กันเสียเท่าไหร่ ส่วนกลุ่มที่พูดอังกฤษกัน หูดับตับไหม้นั้น ก็จะรวมตัวกัน เพราะคุยกันรู้เรื่องมากกว่า


ผมตัดสินใจที่จะนำสิ่งที่ผมได้เรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง จากการท่องประโยค จากบทละคร จากการฟังเพื่อนร่วมห้องคุยกัน จากสื่อต่างๆที่ได้ผ่านตาหรือผ่านเข้ามาให้หู นำออกมาใช้ เพื่อนๆในคณะมีหลายคนที่พูดภาษาอังกฤษได้ครึ่งๆอยู่หลายคน สำหรับคำนิยามคำนี้ผมได้มาจากหนังสือเล่มหนึ่ง ซึ่งได้กล่าวถึงนักเรียนที่มาจากประเทศยุโรป ที่เข้ามาศึกษาในประเทศสหรัฐอเมริกา ว่าเป็นกลุ่ม Half English Speaking ผมขออธิบายเล็กน้อยน่ะครับว่า คำนิยามนี้สำคัญมากต่อการเรียนพูดภาษาอังกฤษ คำว่า พูด ได้ครึ่งหนึ่ง กับ พูด งูๆ ปลาๆ นั้นไม่เหมือนกันน่ะครับ การพูดได้ครึ่งเดียวในความหมายนี้ แปลว่าเป็นผู้ที่สามารถใช้ภาษาอังกฤษได้อย่างถูกต้องตามอักขระที่เจ้าของภาษาเขาใช้กัน ****แต่ไม่สามารถใช้ได้มากเท่ากับเจ้าของภาษา****พวกเขาเหล่านี้จึงสามารถสื่อสารได้อย่างคล่องแคล่ว แต่ไม่สามารถสื่อออกมาได้ในทุกบริบทหรือสถานการณ์ต่างๆ อาจจะด้วยเหตุผลเพราะไม่ทราบคำศัพท์ ไม่เคยได้ยินสำนวนต่างๆ หรือคำแสลงที่ปัจจุบันมีมากมายให้เลือกใช้ กลุ่มประชากร Half English Speaking เหล่านี้จึงสามารถสื่อสารเป็นภาษาอังกฤษได้ดีในระดับที่สูงพอสมควร ****แต่ไม่สมบูรณ์เท่าเจ้าของภาษา****


กลับมาเรื่องของการลองผิดลองถูกของผมน่ะครับ ในคณะของผม กลุ่ม Half English Speaking มักจะเป็นนักเรียนที่โตมาจากระบบโรงเรียนนานาชาติตั้งแต่เด็กๆ ส่วนมากเป็นต่างชาติและคนไทยปนๆกัน พวกเขาจะใช้ภาษาไทยสื่อสารผสมกับอังกฤษในการพูดคุยกัน เนื่องจาก ตั้งแต่เด็กจนโตพวกเขาเหล่านี้ได้ทั้งสองภาษาไปพร้อมๆกัน ภาษาอังกฤษในห้องเรียน แต่พอคุยกับเพื่อนคนไทยก็จะใช้ภาษาไทยเสียส่วนใหญ่ ****ไม่ใช่โรงเรียนนานาชาติทุกๆที่ ที่เด็กต่างชาติหรือเด็กไทยจะพูดไทยได้น่ะครับ**** และในทางกลับกันก็ไม่ใช้นักเรียนจากโรงเรียนนานาชาติทุกคนจะพูดอังกฤษได้คล่องกันทุกคน ส่วนมากจะเป็น Half English Speaking กันเสียส่วนใหญ่ และส่วนน้อยที่พูดอังกฤษไม่เท่าไหร่นัก****


เนื่องจากจะต้องทำงานกลุ่มด้วยกันบ่อยๆ ผมจึงมีโอกาสได้กลายมาเป็นเพื่อนกับ กลุ่มพูดอังกฤษครึ่งๆกันกับหลายคน ลักษณะการพูดคุยกันระหว่างเพื่อนๆในกลุ่มนี้มักจะมีภาษาไทยและอังกฤษ ผลุบๆโผล่ๆ มาให้เห็นตลอด คนภายนอกจะมองว่า นักเรียนเหล่านี้ โอ้อวดหรือเปล่า เสแสร้งหรือไม่ ผมบอกได้เลยครับว่าพวกเขาใช้สองภาษาพร้อมๆกันเพราะความเคยชินเท่านั้น ผมเลยต้องลองบ้าง ที่นี่ข้อดีของการพูดผสมๆ นั้นทำให้เกิดการลองผิดลองถูกลองศึกษาปฎิกิริยาโต้ตอบที่กลับมาของเพื่อนๆในกลุ่ม ทำให้การพูดของผมไม่เกิดความกดดันมาก เนื่องจากภาษาไทยยังคงเป็นภาษาที่ผมใช้ถนัดที่สุด การร่วมงานจึงดำเนินไปอย่างฉลุย ผมก็มีแอบพูดผสม เป็นประโยคลงไป ผมมักจะไม่พูดเป็นคำๆ ผสมกับคำไทย เพราะจะทำให้สมองเราเกิดความเคยชินกับการใช้ ไทยคำอังกฤษคำ เหมือนที่นักวิชาการ ดารา นักธุรกิจหลายคนใช้กันจนเป็นเรื่องธรรมดาของสังคมสมัยนี้ ที่นี่เวลาที่มีเพื่อนต่างชาติเข้ามาทำงานในกลุ่มด้วย พวกเราก็จะเปลี่ยนการพูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นเป็นภาษาอังกฤษแทน เพราะถือเป็นการให้เกียรตินักศึกษาต่างชาติในมหาวิทยาลัยที่ไม่สามารถเข้าใจภาษาไทยได้


เพื่อนๆ ผมเหล่านี้เปลี่ยนเป็นภาษาอังกฤษล้วนๆได้อย่างช่ำชอง ทำเอาผมนั่งนิ่งของฟังอย่างเดียวไปก่อน ถ้าให้ผมเถียงผมคงเถียงไม่ค่อยทันเพราะตอนนั้นยังพูดไม่ค่อยคล่องเท่าไหร่เลยครับ ได้แต่ฟังและใจจดใจจ่อกับคำที่เพื่อนๆใช้พูดคุยกันเป็นภาษาอังกฤษ ว่าหากภาษาไทย พูดว่า “คุณจะต้องเอาดินสอขีดลากไปตามขอบกระดาษ แล้วจึงตัด” จะต้องพูดออกมาเป็นภาษาอังกฤษได้อย่างไร ผมคงพูดได้แค่คร่าวๆว่า “Draw the line here and then cut there” ซึ่งเป็นการสื่อสารแบบขาดความหมายซึ่งขาดองค์ประกอบในการสื่อไปมากพอสมควร หากเป็นตอนนี้ ผมจะพูดว่า “Use a pencil and trace around the corner of the paper before you cut it”


ในสมัยเรียนเป็นช่วงที่สมองผมเก็บข้อมูลเป็นอย่างมาก ทั้งอ่าน ทั้งฟังและก็ช่างพูด พูดครึ่งๆนี่แหละครับ ลองไปอยู่กับนักเรียนฝรั่งจริงผมก็คงพูดไม่ได้มากไปกว่าที่ศึกษามา แต่ก็มีหลายครั้งที่ผมมีความจำเป็นจะต้องพูดเป็นภาษาอังกฤษล้วนๆ แต่ผมเองก็ใช้ภาษาอังกฤษเท่าที่ผมศึกษามาเท่านั้น ผมพูดได้ช้า แต่ก็พยายามใช้ประโยคที่ผมเองนั้นคุ้นเคยมากที่สุด เพื่อที่จะสื่อสารให้ได้เรื่องมากที่สุด หากผมไปฟังตอนที่ตัวเองพูดในสมัยก่อน ผมเองก็คงจะเหมือนเด็กๆคนหนึ่งที่ยังพูดไม่ค่อยเป็น พูดออกมาเพียงแต่ไม่กี่คำไม่กี่ประโยค ในการสื่อสารเท่านั้น จริงๆ กลุ่ม Half English Speaking เองนั้นก็ใช่ภาษาอังกฤษเท่าที่พวกเขาทราบเท่านั้น เพียงแต่จะสามารถสื่อสารทางความหมายได้ดีขึ้นมาอีกเท่าตัว


ผมเคยสังเกต เพื่อนชาวใต้หวันที่มหาลัยคนหนึ่งที่จบมาจาก โรงเรียนนานาชาติระดับแนวหน้าของประเทศไทยแห่งหนึ่ง ได้พยายามอธิบายเหตุการณ์ๆหนึ่งให้เพื่อนชาว ตะวันออกกลางฟัง และแน่นอนการใช้ภาษาของเพื่อนชาวใต้หวันที่เรียนนานาชาติตั้งแต่เด็กๆ ย่อมสามารถใช้รูปประโยคและคำศัพท์ที่มีความหลากหลายมากกว่าผมแน่นอน แต่เรื่องจาก เพื่อนผมเองก็ไม่ได้เป็นเจ้าของภาษาและใช้ภาษาไทยมากพอๆกับภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวัน จึงทำให้การอธิบายของเพื่อนผมนั้นไม่ได้ดีเท่าเจ้าของภาษา แต่เชื่อมั้ยครับว่าที่ผมได้ยินนั้นเป็นภาษาที่ไพเราะมาก ถึงแม้ว่าจะเพื่อนผมคนนี้จะใช้คำวนไปวนมา แต่ทำไมภาษาที่เขาใช้จึงถึงได้ฟังดูใกล้เคียงเจ้าของภาษานัก??


อย่างแรกน่ะครับ ถึงแม้ว่าเพื่อนผมจะไม่ได้ใช้คำศัพท์มากมายให้ดูเกินความจำเป็นแต่ รูประโยคที่นำมาใช้พูดนั้น****ล้วนแต่เป็น ภาษาอังกฤษที่ถูกต้อง****   ยังจำที่ผมเคยกล่าวไว้ตอนแรกๆได้มั้ยครับว่า พูดให้เหมือนเด็กฝรั่ง ไม่ว่าจะพูดได้น้อยหรือไม่รู้คำศัพท์มากพอแต่ขอให้พูดให้ถูกอักขระเท่านั้น ก็ถือได้ว่าเป็นการเริ่มต้นที่ถูกต้องแล้วน่ะครับ และจะเป็นการสร้างนิสัยให้ท่านผู้อ่าน พูดแต่ภาษาอังกฤษที่ถูก อักขระในเชิงวจนะภาษาของเจ้าของภาษาเขาน่ะครับ ตัวผมเองพูดได้เหมือนเด็กประถมฝรั่งเห็นจะได้ ถึงแม้ว่าผมจะยังไม่ทราบคำศัพท์มากเท่าเจ้าของภาษา หรือ พูดได้คล่องเป็นต่อยหอย แต่ผมก็จะพูดให้ถูกอักขระมากที่สุด

อย่างที่สองสำเนียงเพื่อนผมเป็นอเมริกันมากทำให้ดูเป็นธรรมชาติมากขึ้น แต่ในตอนนี้ผมจะยังไม่ขอกล่าวเรื่องสำเนียงกันน่ะครับ ผมขอเน้นไปที่เรื่อง Input ไปก่อนในตอนนี้ ต่อมาภายหลังผมเองก็เริ่มทราบถึงปัญหาแล้วว่า ผมเองนั้นยังไม่มีความคล่องพอสมควร ผมเลยตัดสินใจพูดอังกฤษกับเพื่อนที่เป็น  Half English Speaking ล้วนๆ เท่าที่ความสามารถผมจะไปถึง


ในตอนนั้นผมเองก็ต้องปรับตัวพอสมควร เนื่องจากในความเป็นจริงไม่มีใครสามารถมานั่งสอนผมได้ตลอดเวลา เพราะผมเองก็โตแล้ว ก็คงไม่มีใครมานั่งสอนว่าจะต้องพูดอย่างไร พูดอย่างไรให้ถูกต้องถึงจะฟังดูธรรมชาติ ผมก็อาศัยจากสื่อต่างๆที่ผมได้แนะนำมานี่แหละครับ แต่นำออกมาพูดในมหาลัยให้บ่อยที่สุด เพื่อนคนไทย ผมพูดไทยด้วย เพื่อนคนไหนที่ถนัดพูดอังกฤษมากกว่าผมก็พูดเป็นภาษาอังกฤษกับคนนั้น มีบางเวลาที่ไม่สามารถอธิบายเป็นภาษาอังกฤษได้ ผมก็พูดไทยออกมาแทน ก็เนียนๆ ไปไม่ให้เพื่อนแอบรู้ว่าเรา แอบเรียนภาษาจากพวกเขา ผมกับเพื่อนสนิทอีกคนที่เป็นคนพูดครึ่งๆเหมือนกันก็ตัดสินใจทำแบบเดียวกับผม โดยใช้ภาษาอังกฤษคุยกันล้วนๆ เพราะเพื่อนผมเองก็เริ่มจะใช้อังกฤษน้อยลงทุกวันๆ หากมีสถานการณ์ไหนที่ผมพูดเป็นภาษาอังกฤษไม่ออก ผมก็กลับมา หาอ่านหาฟังทันทีแล้วเอาไปพูดต่อกับเพื่อน เพื่อไม่ให้ลืม


****ข้อพึงระวังน่ะครับ****
 พยายามอย่าไปตีสนิทกับหรือพูดกับฝรั่งแปลกหน้าเพื่อให้เขาฝึกภาษาให้เรา อย่าไปว่าเขาหรือน้อยใจหากเขาเดินหนี**** ในทางกลับกัน เราเองจะยอมเสียเวลามานั่งสอนภาษาไทยให้กับต่างชาติหรือไม่ หากเราเองก็ไม่ได้เป็นครู เราเองก็อยากมานั่งดื่มเบียร์เย็น สบายๆ แล้วจู่ๆมีคนแปลกหน้าเข้ามาทักแถมพูดไทยไม่ชัด มาทักทาย มาถามชื่อ มาถามอายุ ถามนู่นถามนี่ มาลองสนามภาษาไทยกับเรา เราเองจะรู้สึกว่าเป็นการไม่สุภาพหรือไม่?


การเรียนรู้ค่อยๆ เป็นค่อยๆไป มีวิธีมากมาย ที่จะหา Output แต่ตอนนี้ท่านผู้อ่านพยายามอ่านให้มากๆ ฟังมากๆ และอย่าลืมเขียน Diary ของท่านผู้อ่านเองเป็นภาษาอังกฤษ หากท่านผู้อ่านยังไม่ใม่สามารถสร้างประโยคได้เอง ผมแนะนำให้ไปลอกคำและประโยคเขามาก่อนน่ะครับ เพื่อให้เกิดความคุ้นเคย


การเขียน
สำหรับผู้ที่ต้องการจะเขียนภาษาอังกฤษให้เก่งน่ะครับ อ่านนิตยสารที่เป็นภาษาอังกฤษให้มากๆเข้าไว้ นอกจากเราจะไม่ต้องมาเรียนไวยากรณ์ให้น่าเบื่อ ท่านผู้อ่านจะซึมซับการเขียนผ่านจากการอ่านได้มากกว่าไปเรียนในชั้นเรียนเสียอีก นิตยสารที่ผมแนะนำ ก็เช่น Times, Newsweek หรืออะไรก็ได้ที่เป็นทางการ หรือหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษก็ดีน่ะครับ บทความเหล่านี้มักจะใช้วิธีการเขียน ตามมาตรฐานการเขียนข่าว ไม่ว่าจะเป็นการเว้นวรรค การใช้เครื่องหมาย ซึ่งเหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการจะศึกษาไวยากรณ์ไปพร้อมๆกับการเขียนภาษาอังกฤษน่ะครับ


สำหรับการใช้คำในการเขียน 

ท่านผู้อ่านมีความจำเป็นที่จะต้องพึ่งตัวเองมากๆน่ะครับ โรงเรียนภาษาช่วยได้แค่ในระดับหนึ่งเท่านั้น ท่านผู้อ่านจะต้องถามตัวเองก่อนว่า ท่านผู้อ่านต้องการเขียนในลักษณะใด หากเขียนเป็นบทความทั่วไปท่านผู้อ่านอาจจะอ่านหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษทั่วไปๆ ดั่งที่ผมได้กล่าวไว้ในตอนต้นๆแล้วน่ะครับ การเขียนอาศัยการหา Input เช่นเดียวกับการพูด หากเรารู้ว่าจะต้องพูดอย่างไร เราก็สามารถเขียนออกมาได้เช่นนั้น เหมือนกัน


ผมทั้งอ่าน และเขียนออกมาใน Diary เมื่อก่อนทุกวัน เดี๋ยวนี้มีข่าวอะไรสำคัญผมอ่านจากหนังสือพิมพ์ก่อนแล้วเขียนสรุปเอาเอง ติดตรงไหนผมก็ยืมคำมาใช้ทันที เพราะผมถือว่า ผมเองก็ไม่ได้รู้ประโยคหรือ คำศัพท์ในภาษาอังกฤษทั้งหมด การทดลองพูด ทดลองเขียนจะทำให้ท่านผู้อ่านทราบว่าท่านผู้อ่านนั้นจะต้องศึกษาเรื่องใดเพิ่มเติมน่ะครับ


เนื้อหาทั้งหมดของบทความ พูดภาษาอังกฤษให้ดี แนวจิตวิทยา
ตอนที่ 1 :    ให้ทุกคนคิดว่าตัวเองเป็นเด็กฝรั่งที่กำลังเริ่มหัดพูด หัดอ่าน หัดเขียน
ตอนที่ 2 :    อุปกรณ์และขั้นตอนในการเรียน(ด้วยตัวเอง)
ตอนที่ 3 :    การพูดอ่านและเขียนมีหลักการเดียวกัน 
ตอนที่ 4 :    การหาวัตถุดิบ(หนังสือ อินเตอร์เน็ต คน และแรงบันดาลใจ)
ตอนที่ 5 :    การหาวัตถุดิบ หรือ Input(2)
ตอนที่ 6 :    รู้จักการเลียนแบบน้ำเสียง แล้วนำไปใช้
ตอนที่ 7 :    สิ่งที่ควรรู้ในการเรียนภาษาอังกฤษ
ตอนที่ 8 :    มาต่อที่เรื่องของวัตถุดิบ หรือ Input(3)
ตอนที่ 9 :    ยังคงอยู่ที่เรื่องของวัตถุดิบ หรือ Input(4)
ตอนที่ 10 :  ประสบการณ์การทดลองส่วนตัวในการเรียนภาษาอังกฤษ

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น